ลดเพดานผลิตน้ำมันดันราคาพุ่งขึ้น
ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% หลังจากซาอุดิอาระเบียและรัสเซียตกลงที่จะยังคงลดเพดานการผลิตน้ำมันต่อไปจนถึงเดือนมี.ค.ปีหน้า
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้นเป็น 52.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังจากมีการประชุมระหว่างทั้งสองประเทศในจีน
โดยกลุ่มประเทศโอเปก ซึ่งนำโดยซาอุดิอาระเบีย และประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกกลุ่มโอเปกที่นำโดยรัสเซียยังคงพยายามที่จะลดเพดานการผลิตต่อไปเพื่อทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ไม่ได้รวมอยู่ในนี้ด้วยและปริมาณการผลิตที่สูงของสหรัฐฯอาจทำลายความพยายามของประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั้งสองกลุ่ม
หลังจากการประชุมที่กรุงปักกิ่ง นายคาลิด อัล-ฟาลิห์ รัฐมนตรีพลังงานของซาอุฯ และนายอเล็กซานเดอร์ โนวัค รัฐมนตรีพลังงานรัสเซียกล่าวว่า “ รัฐมนตรีทั้งสองเห็นพ้องที่จะทำอะไรก็ตามที่จะทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย เพื่อทำให้ตลาดมีเสถียรภาพและลดการลงทุนด้านน้ำมันเพื่อการพาณิชย์ในระดับเฉลี่ยเป็นเวลา 5 ปี ”
โดยรัฐมนตรีฟาลิดเสริมว่า “ เราได้ข้อสรุปว่า จำเป็นต้องมีการขยายเวลาของข้อตกลงออกไป ”
ทั้งนี้้ ทั้งสองประเทศผลิตน้ำมันดิบได้ 20 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 1 ใน 5 ของปริมาณการบริโภคทั่วโลก และคาดการณ์ว่าประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆ จะปฏิบัติตามในเรื่องการลดเพดานการผลิตน้ำมันลง
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซียกล่าวว่า การขยายเวลาในการลดเพดานการผลิตน้ำมันต่อไปอีก 9 เดือนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง “ เราสนับสนุนข้อเสนอ ”
มีการบรรลุข้อตกลงในการลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงตั้งแต่เดือนก.ย.ปีที่แล้ว แต่เพิ่งมีการปฏิบัติตามอย่างจริงจังตามข้อตกลงได้ในปีนี้
ภายใต้ข้อตกลง กลุ่มประเทศโอเปกจะลดเพดานการผลิตน้ำมันลง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่รัสเซียซึ่งเป็นผู้นำของประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่ไม่ใช่กลุ่มโอเปกเห็นพ้องที่จะลดการผลิตลง 600,000 ล้านบาร์เรลต่อวัน
เมื่อช่วงต้นเดือนพ.ค. ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 5 เดือน แต่ยังคงมีความกังวลอย่างต่อเนื่องว่า ประเทศผู้ผลิตอาจไม่เต็มใจที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ต่อไป
โดยสหรัฐฯ เองปฏิเสธที่จะลดเพดานการผลิตน้ำมัน และปริมาณน้ำมันที่สหรัฐฯผลิตได้ยังเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ตั้งแต่ปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 ทางรัฐบาลซาอุฯ ตกลงที่จะลดเพดานการผลิตน้ำมันลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี.