เป่านกหวีดให้เรียกคืนรถฮุนได/เกีย
รัฐบาลเกาหลีใต้ออกคำสั่งให้ผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ฮุนไดและเกียเรียกคืนรถประมาณ 240,000 คัน หลังจากการการเปิดเผยข้อมูลของคนเป่านกหวีดคนหนึ่ง
อดีตพนักงานคนหนึ่งของบริษัทฮุนไดเป็นผู้ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับรถยนต์ 12 รุ่นที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่กระทรวงคมนาคมของเกาหลีใต้ออกโรงสั่งให้เรียกคืนรถยนต์
ก่อนหน้านี้ บริษัทฮุนไดและเกียปฏิเสธที่จะเรียกคืนรถอย่างสมัครใจ โดยกล่าวว่าไม่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยแต่อย่างใด
ทั้งนี้ รถยนต์รุ่นที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดคือ รถฮุนไดรุ่น i30 แฮทช์แบ็ค รุ่นโซนาต้าซีดาน รุ่นเจเนสิสที่เป็นรุ่นหรูหราและรถยนต์เกียรุ่นโมเฮฟ รวมถึงรถมินิแวน รุ่นคาร์นิวัลด้วย โดยรถยนต์รุ่นเหล่านี้มีปัญหาทั้งในส่วนท่อสูญญากาศ ท่อน้ำมันเชื้อเพลิง ไฟบอกตำแหน่งเกียร์จอดรถและอื่นๆ
โดยแผนการเรียกคืนรถจะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคัน ซึ่งฮุนไดและเกียเสนอที่จะซ่อมแซมในส่วนเครื่องยนต์ที่สะดุดในเดือนที่แล้วทั้งในเกาหลีใต้และสหรัฐฯ
ฮุนไดมอเตอร์แถลงว่า ทางบริษัทยอมรับและเชื่อฟังในการเรียกคืน แต่ไม่เคยมีรายงานถึงการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุจากประเด็นข้อบกพร่องต่างๆ แต่อย่างใด
“ ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ฮุนได-เกียให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก และเราตัดสินใจในการเรียกคืนรถยนต์เป็นขั้นตอนการปกป้องลูกค้าตามกฎหมายทั่วโลกและเข้มงวดกับกระบวนการภายใน”
ที่จริงแล้ว การเป่านกหวีดเพื่อเปิดโปงการกระทำผิดเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยากในเกาหลีใต้ และยิ่งยากขึ้นไปอีกถ้าเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทของตะกูลใหญ่ของประเทศ หรือที่เรียกกันว่าแชโบล แต่นายคิมกวางโฮ วัย 55 ปีมีความกล้าพอที่จะแฉบริษัทยักษ์ใหญ่ เขาเคยทำงานในบริษัทฮุนไดมานานกว่า 25 ปี จนถึงตอนนี้ เขาก็ยังรักและภูมิใจในบริษัท แต่เขากล่าวว่า การตัดสินใจที่จะพูดเป็นสิ่งที่เขาคิดคำนวณมาแล้ว เนื่องจากเขาใกล้จะถึงเวลาเกษียณอายุ และไม่มีอะไรต้องสูญเสียเท่ากับเพิ่อนร่วมงานรุ่นน้องคนอื่นๆ
การได้ทำงานในแชโบล ถือเป็นหนทางไปสู่ความสำเร็จในเกาหลีใต้ และการที่จะได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งชององค์กรเป็นเรื่องที่ต้องแข่งขันกันอย่างสูง พนักงานหลายคนจึงปฏิบัติตามกฎของบริษัทอย่างเคร่งครัด ไม่มีแตกแถว
อย่างไรก็ตาม เรื่องของนายคิมดูจะจบลงอย่างมีความสุข โดยในเดือนนี้ ทางฮุนไดถอนฟ้องเขา เสนอให้เขากลับไปทำงานในตำแหน่งเดิม และจ่ายเงินชดเชยให้เขาที่ต้องสูญเสียรายได้มานานหลายปี
นี่เป็นผลของการทำงานของคณะกรรมการต่อต้านคอร์รัปชั่นและสิทธิพลเมืองของเกาหลีใต้ที่ออกกฎเมื่อหลายปีก่อน แต่มีเพียงฮุนไดที่ยอมปฏิบัติตาม แม้บรรยากาศทางการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไป.