ญี่ปุ่นว่างงานสูงสุดในรอบ 3 ปี
อัตราการว่างงานของประเทศญี่ปุ่นพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 3.1% ในเดือนต.ค. สูงที่สุดในรอบกว่า 3 ปี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับตลาดแรงงาน จากข้อมูลของรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสุขภาพ แรงงานและสวัสดิการระบุว่า อัตราส่วนของตำแหน่งงานว่างในตลาดปรับดีขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2562 เนื่องจากการจ้างงานพลิกฟื้นขึ้นแม้จะมีความผันผวนที่ส่งผลกระทบกับแนวโน้มเศรษฐกิจ
โดยอัตรางานเพิ่มขึ้นเป็น 1.04 จากเดิม 1.03 ในเดือนก.ย. หมายความว่ามีตำแหน่งงานที่เปิดรับ 104 อัตราสำหรับคนที่หางานทำทุกๆ 100 คน
ทั้งนี้ ตัวเลขว่างงานสูงสุดของญี่ปุ่นที่เคยพุ่งสูงสุด 3.1% คือในเดือนพ.ค.2560
อัตราการว่างงานสำหรับผู้ชายคือ 3.4% เพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนก.ย. ขณะที่ตัวเลขว่างงานสำหรับผู้หญิงอยู่ที่ 2.7% ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร
ข้อมูลเดือนต.ค. รวมทั้งผลผลิตอุตสาหกรรม ชี้ให้เห็นถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องหลังการแพร่ระบาดที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวลงมากที่สุดในไตรมาสเดือนเม.ย.- มิ.ย.
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดที่พุ่งขึ้นอีกระลอกของโควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้เกิดความผันผวนมากขึ้นกับแนวโน้มเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ขณะที่ประเทศอื่นๆยังคงประสบปัญหาในการต่อสู้เพื่อควบคุุมการแพร่ระบาดของไวรัส
รัฐบาลให้การสนับสนุนบรรดาบริษัทที่ประสบกับความยากลำบากในระหว่างการแพร่ระบาด เพื่อให้ยังคงการจ้างงานพนักงานไว้ ด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนให้ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า เป็นการช่วยไม่ให้ตลาดแรงงานถูกกระทบอย่างรุนแรง
โดยจำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 80,000 คนเป็น 2.14 ล้านคน
ขณะที่ข้อมูลอีกส่วนของรัฐที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ระบุว่า ผลกำไรบริษัทในญี่ปุ่นลดลงเป็นตัวเลขสองหลักต่อเนื่องกันเป็นไตรมาสที่ 3 ในไตรมาสเดือนก.ค. – ก.ย. เนื่องจากบรรดาบริษัทประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาด
รายจ่ายการลงทุนจากทุกภาคที่ไม่ใช่ภาคการเงิน เช่น การสร้างโรงงาน รวมถึงการเพิ่มอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ลดลง 10% ลงมาอยู่ที่ 10.80 ล้านล้านเยน
ตัวเลขในไตรมาสเดือนเม.ย. -มิ.ย. ดิ่งลง 11.3% ดิ่งลงมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสเดือนม.ค. – มี.ค. 2553 เป็นต้นมาที่ตัวเลขดิ่งลงถึง 11.5%
ญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉินจากไวรัสโคโรนาเมื่อช่วงต้นเดือนเม.ย. โดยขอให้ประชาชนอยู่บ้าน และขอให้ธุรกิจที่ไม่สำคัญระงับการดำเนินการ การขอความร่วมมือนี้ส่งผลกระทบอย่างหนักกับเศรษฐกิจของประเทศ และมีการยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินในช่วงปลายเดือนพ.ค.
หลังจากนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ค่อยๆฟื้นตัวขึ้น แต่มีความกังวลเพิ่มขึ้นว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นอีกระลอกอาจส่งผลกระทบทำลายการบริโภคอีก