โปสเตอร์ในญี่ปุ่นสร้างความสับสน
โปสเตอร์รณรงค์ส่งเสริมความภาคภูมิใจในประเทศญี่ปุ่นก่อให้เกิดความสับสนอย่างหนักในญี่ปุ่นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้
โปสเตอร์ที่ติดอยู่ทั่วเมืองเกียวโตเป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่พบเห็นหลายคน แต่ก็ทำให้หลายคนรู้สึกกังวลว่าอาจก่อให้เกิดแนวคิดชาตินิยมแบบขวาสุดโต่งเพิ่มขึ้นในญี่ปุ่น
แต่ตอนนี้เรื่องกลับพลิกไปอีก เนื่องจากกลายเป็นประเด็นใหม่ขึ้นมาแทนนั่นคือ ผู้หญิงในโปสเตอร์ที่ส่งเสริมให้มีความรักและภูมิใจในความเป็นชาติญี่ปุ่นนั้น แท้จริงแล้วกลับเป็นสาวจีน
ทั้งนี้ ประชาชนในเมืองเกียวโตสังเกตเห็นโปสเตอร์ที่เริ่มติดอยู่ทั่วเมืองช่วงต้นเดือนพ.ค.นี้ ซึ่งเป็นโปสเตอร์รูปของหญิงสาวคนหนึ่งที่หลับตายิ้มอยู่เบื้องหน้าธงชาติญี่ปุ่น โดยมีข้อความว่า
“ ฉันดีใจที่เป็นคนญี่ปุ่น ชูฮิโนมารุด้วยความภาคภูมิใจจากใจของคุณ” โดยในโปสเตอร์ใช้คำว่า ‘ฮิโนมารุ’ แทนคำว่า ธงชาติญี่ปุ่น
ผู้ใช้ทวิตเตอร์มีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับโปสเตอร์นี้ บางคนก็ว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เป็นการปลุกใจให้รักและภูมิใจในชาติของตัวเอง แต่หลายคนมองว่า อาจทำให้ชาวต่างชาติรู้สึกไม่สบายใจ แต่ในความเป็นจริง จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเกียวโต ก็ไม่ได้ลดจำนวนลงแต่อย่างใด
ในตอนแรก ไม่มีใครทราบว่า ผู้ผลิตโปสเตอร์นี้คือใคร แต่เมื่อต้นสัปดาห์ สื่อฮัฟฟิงตันโพสต์ของญี่ปุ่นรายงานว่าจินจา ฮอนโช หรือ สมาคมศาสนาชินโตแห่งชาติเป็นผู้จัดพิมพ์ โดยมีการสั่งพิมพ์ครั้งแรกในปี 2554 และมีการกระจายโปสเตอร์ 60,000 ใบไปทั่วประเทศ
ที่กลายเป็นหัวข้อให้ถกเถียงกันในขณะนี้คือ ผู้หญิงในโปสเตอร์ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่น แต่เป็นชาวจีน โดยภาพนี้เป็นการปรับเปลี่ยนจากเวอร์ชั่นของภาพต้นฉบับจาก Getty Image ซึ่งถายในปักกิ่งและมีข้อความว่า ‘ เชื้อชาติจีน ‘
นี่เป็นประเด็นอ่อนไหวในญี่ปุ่น เพราะแนวคิดชาตินิยมของญี่ปุ่นและสงครามโลกครั้งที่ 2 สร้างความทุกข์ทรมานให้กับจีน ซึ่งอยู่ภายใต้การยึดครองกดขี่ข่มเหงจากทหารญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น
คนที่เห็นโปสเตอร์บางคนให้ความเห็นว่า “ นี่ทำให้ฉันคิดถึงคำว่า MAGA ( Make America Great Again) ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พยายามจะทำกับจีน จีนเป็นผู้สนับสนุนความรักชาติทั่วโลกเลย”
เมื่อถูกถามถึงโปสเตอร์นี้ บริษัท Blue Jean Image ซึ่งเป็นบริษัทในกรุงปักกิ่งและเป็นผู้ถ่ายรูปต้นฉบับ กล่าวว่า “ เราไม่มีความเห็น เนื่องจากเรื่องนี้เป็นประเด็นที่อ่อนไหวมาก” แต่ยืนยันว่า นางแบบในโปสเตอร์เป็นชาวจีน และรูปนี้ถ่ายตั้งแต่ปี 2552
ทางจินจา ฮอนโชกล่าวกับสื่อว่า นี่ไม่ใช่ปัญหา เพราะโปสเตอร์ไม่ได้ระบุเป็นกาารเฉพาะเจาะจงว่า ผู้หญิงในภาพเป็นชาวญี่ปุ่น.