แบรนด์ใหญ่ญี่ปุ่นกำลังล่มสลาย
บริษัทญี่ปุ่นที่เคยครองตลาดในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่ปัจจุบันนี้ มีแต่ข่าวพาดหัวเรื่องปัญหาที่บริษัทกำลังเผชิญอยู่มากกว่าสินค้าที่ผลิตออกมา
โตชิบา ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกในการผลิตคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป ผู้ผลิตโทรทัศน์และสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ก็เป็นแบรนด์ใหญ่ของญี่ปุ่นล่าสุดที่กำลังดิ้นรนอย่างหนักเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคาร
โดยสินค้าของบริษัทสูญเสียตลาดให้กับบริษัทของจีนและเกาหลีใต้ในอุตสาหกรรมสำคัญ เพื่อเป็นการแก้เกม ทางโตชิบาย้ายไปปักหมุดที่ธุรกิจอื่น โดยทุ่มเงินซื้อบริษัท Westinghouse Electric ของสหรัฐฯ ซึ่งดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์
บริษัทเริ่มประสบปัญหาจากข่าวฉาวที่ส่งผลกระทบในปี 2558 เนื่องจากมียอดขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้น
ในธุรกิจพลังงานนิวเคลียร์ ในเดือนก.พ.ปีนี้ บริษัทรายงานยอดขาดทุน 6,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อบริษัท Westinghouse ประกาศล้มละลายทำให้โตชิบามีหนี้จำนวนมาก
มูลค่าหุ้นของบริษัทลดฮวบลงมากกว่าครึ่งในเวลาไม่กี่เดือน และบริษัทต้องขายธุรกิจส่วนเมมโมรีชิปและทรัพย์สินอื่นๆ เพื่อประคับประคองพยุงฐานะของบริษัท
ขณะที่ชาร์ป ซึ่งในอดีตเคยเป็นผู้ผลิตเครื่องคิดเลขระดับไฮเอนด์ เครื่องเล่นเทปคาสเซ็ทพกพา และบริษัทยังได้ลงทุนไปมากในการผลิตจอแอลซีดีทีวี แต่จากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นและวิกฤตการเงินทั่วโลกส่งผลให้ดีมานด์ลดลงอย่างมาก
บริษัทอยู่ในสถานการณ์ที่เกือบจะล้มละลายมานานหลายปี โดยบริษัทประกาศการขาดทุนครั้งใหญ่และปลดพนักงานออกถึง 5,000 คนในปีที่แล้ว
และเมื่อวิกฤตลุกลามถึงที่สุด ชาร์ปก็ถูกบริษัทฟอกซ์คอนน์ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติไต้หวันเทคโอเวอร์ไปในปีที่แล้ว
แบรนด์โอลิมปัสเริ่มต้นจากการผลิตกล้องจุลทรรศน์ในประเทศ ต่อมา บริษัทกลายเป็นผู้ผลิตกล้องชั้นนำและเป็นซัพพลายเออร์เครื่องมือทางการแพทย์ด้วย
ในปี 2554 ไมเคิล วู้ดฟอร์ด กลายเป็นซีอีโอคนแรกของบริษัทที่ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นและเขาค้นพบว่าบริษัทปกปิดตัวเลขขาดทุนมานานกว่าทศวรรษ เมื่อเขาเริ่มถามถึงเรื่องนี้ ก็ถูกบอร์ดบริหารไล่ออก เขากลายเป็นผู้เปิดโปงข่าวฉาวว่าบริษัทขาดทุนกว่า 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯมานาน 13 ปี
ผู้บริหารเดิมถูกตั้งข้อหาและถูกศาลตัดสินจำคุกหลายคน แต่ด้วยทีมบริหารใหม่ทำให้บริษัทกลับมายืนหยัดได้อย่างสวยงามอีกครั้ง หุ้นพุ่งขึ้นเกือบ 10 เท่าจากที่เคยต่ำสุดในปี 2554 โดยสินค้าที่สำคัญของบริษัทคือเครื่องมือทางการแพทย์
แบรนด์ซันโยเคยเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่น แต่จากค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้สินค้าส่งออกจากญี่ปุ่นมีราคาแพง ทำให้แข่งขันกับสินค้าแบรนด์จีนและเกาหลีใต้ได้น้อยลง
บริษัทพยายามต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนัก จนในที่สุดก็ต้องยอมให้พานาโซนิคเข้ามาเทคโอเวอร์บริษัทไปในปี 2552.