คลังแจงเหตุ! ทำรัฐจัดเก็บVATลดแรง -9.4%
ประเดิมเดือนแรกปีงบ’64 ยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหดตัวแรง -9.4% เหตุนำเข้าน้ำมันลดลง ฐานภาษีปีก่อนสูงจากการควบรวมกิจการ และคนไทยไม่ซื้อรถ รอโปรฯงานมอเตอร์เอ็กโปปลายปี คลังเผย! ยังขาดตัวเลขร่วมประเมินอีกเยอะ โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว มั่นใจภาพรวมเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัว หลังรัฐอัดเงินลงทุนเพียบ พ่วงเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
“รองโฆษกกระทรวงการคลัง” นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พร้อมด้วย นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผอ.สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. แถลงข่าวรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ต.ค.2563 ว่า มีสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อน แต่ยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่างๆ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงปลายปี
แม้ว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน จะมีสัญญาณชะลอตัวและทรงตัวจากเดือนก่อน รวมถึงเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศที่ชะลอตัวเล็กน้อย โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ที่ทำให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ลดลง 9.4% เป็นผลมาจากการนำเข้าน้ำมันที่ลดลง อีกทั้งยังมีปัจจัยฐานสูงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้สูง เพราะมีการควบรวมกิจการของภาคธุรกิจ
นอกจากนี้ การจำหน่ายรถยนต์และจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่ยังลดลง -25.9% และ -11% ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญทำให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มลดลงเยอะ อย่างไรก็ตาม สัญญาณข้างต้นยังไม่ถือว่ามีนัยสำคัญด้านลบ เนื่องจากเป็นเพียงเดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 รวมถึง สศค.ยังขาดข้อมูลสำคัญอีกหลายด้าน อาทิ ด้านตัวเลขอุตสาหกรรมการผลิต ตัวเลขด้านการท่องเที่ยว ฯลฯ ทั้งนี้ จะมีการประเมินภาวะเศรษฐกิจ โดยพิจารณาฐานข้อมูลทุกด้านอีกครั้งในราวปลายเดือน ม.ค.2564
“รองโฆษกกระทรวงการคลัง” ยังกล่าวถึง เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ว่า มีการปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ที่ระดับ 86.0 โดยมีปัจจัยอุปสงค์ภายในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการท่องเที่ยวในประเทศ
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจนั้น นายวุฒิพงษ์ ย้ำว่า ยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ -0.5% ต่อปี และอัตราเงินเฟื้อพื้นฐานอยู่ที่ 2% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ก.ย.2563 อยู่ที่ 49.4% ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง รองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ต.ค.2563 อยู่ในระดับสูงที่ 248.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ด้าน นายพิสิทธิ์ กล่าวถึง ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (RSI) ในช่วงเดือน พ.ย.2563 ว่า ได้ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นฯที่ฟื้นตัวต่อเนื่องในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมของภาคใต้ ขณะที่ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม.และปริมณฑล ยังค่อนข้างทรงตัว ส่วน สถานการณ์เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ยังทรงตัวจากเดือนก่อนหน้านี้ แต่มีบางภูมิภาค เช่น ภาคกลาง อีสาน และใต้ ที่ปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนในภาคเอกชน ที่ได้รับผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล.