ส่งออกเดือนม.ค.สูงสุดในรอบ 62 เดือน
กระทรวงพาณิชย์ เผยตัวเลขส่งออกเดือน ม.ค.61 มีมูลค่า 20,101.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โต 17.6% ดีสุดในรอบ 62 เดือน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 20,220.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โต 24.3% ขาดดุล 119.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ในฐานะโฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกในเดือน ม.ค.61 ขยายตัวได้สูงสุดในรอบ 62 เดือน สาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่ง ประโยชน์จากการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และเป็นการส่งออกจากภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ไม่ได้อาศัยปัจจัยอื่น เช่น ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่เงินบาทแข็งค่าตามภูมิภาคไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก
สำหรับสินค้าที่ส่งออกได้ดี 10 อันดับแรกในเดือน ม.ค.ไม่มีรายการสินค้าเกษตรเลย โดยมีเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบเข้ามาแทนที่แสดงให้เห็นว่ามีการเติบโตของฐานการผลิตที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรยังเติบโตได้ดีทั้งด้านราคาและปริมาณ ยกเว้นยางพารา โดยการส่งออกข้าวมีมูลค่า 474 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 37.2%
ทั้งนี้ ตลาดส่งออกของไทยขยายตัวสองหลักเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV สามารถขยายตัวต่อเนื่อง ยกเว้นเอเชียใต้ ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง ส่วนที่ยังต้องทำตลาดมากขึ้น ได้แก่ กลุ่มอาเซียน
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าการส่งออกในปีนี้ขยายตัวที่ระดับ 8% ซึ่งจะต้องทำยอดให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 21,412 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใต้สมมุติฐานอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32-34 บาท/เหรียญสหรัฐฯ และราคาน้ำมันอยู่ที่ 55-65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้การส่งออกน่าจะขยายตัวได้สูงกว่า 8% หลังจากเศรษฐกิจโลกเติบโตได้ดี
“เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดี การส่งออกสินค้าที่หลากหลาย เชื่อว่าการส่งออกในไตรมาสแรกปีนี้น่าจะขยายตัวได้เกิน 8% แน่นอน” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว
ส่วนดุลการค้าที่ขาดดุลต่อเนื่องสองเดือนติดต่อกันนั้น น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า คงต้องจับตาดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่ แต่เชื่อว่าเป็นผลจากการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวได้มาก อย่างไรก็ตาม การขาดดลการค้าส่งผลดีในแง่ของการช่วงลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากในช่วงก่อนหน้านี้
“ขาดดุลการค้าบ้างก็จะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินไป” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว
ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องทำเพื่อให้การส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่องคือ การขยายตลาดใหม่ ได้แก่ อินเดีย,รัสเซีย ที่ยังมียอดส่งออกต่ำกว่าที่ควร นอกจากนี้จะต้องพัฒนาสินค้าให้มีศักยภาพ เช่น ผลไม้, งานบริการ รวมถึงตัวผู้ประกอบการเอง โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี
ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นต้องเกิดจากความต้องการสินค้า ไม่ใช่ราคาสินค้าที่สูงขึ้น ทั้งนี้ สัญญานเศรษฐกิจกำลังเติบโตไปได้ดีชัดเจน แต่ต้องเร่งกระจายรายได้ลงสู่รากหญ้า
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป ในเดือน ม.ค.61 ส่งออกได้ 82,067 คัน เพิ่มขึ้น 2.46% จากเดือน ม.ค.60 โดยมีมูลค่าการส่งออก 42,014.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.42% จากเดือน ม.ค.60
โดยยอดส่งออกรถยนต์ของไทยเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดอเมริกาเหนือ และ ตลาดเอเชีย โดยการส่งออกไปยังตลาดเอเชียลดลง เนื่องจากมาตรการควบคุมการนำเข้ารถยนต์ (Decree 116) ของประเทศเวียดนาม ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยชะลอการส่งออกไปยังเวียดนามในช่วงไตรมาสแรก
ด้านการผลิตจำนวนรถยนต์ทั้งหมดในเดือน ม.ค.61 มีทั้งสิ้น 166,196 คัน เพิ่มขึ้น 9.15% จากเดือน ม.ค.60 และเพิ่มขึ้น 5.72% จากเดือน ธ.ค.60 ทั้งนี้ การผลิตรถกระบะเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น 5.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนยอดผลิตรถยนต์นั่งและรถกระบะเพื่อจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 19.05% และ 28.04% ตามลำดับ
สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือน ม.ค.61 มีจำนวนทั้งสิ้น 66,513 คัน เพิ่มขึ้น 16.2% จากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว แต่ลดลง 36.2% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.60 โดยยอดขายเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัว ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การมีรถยนต์นั่งและรถกระบะรุ่นใหม่ออกสู่ตลาด รวมทั้งครบการถือครองรถยนต์คันแรก การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล และนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น ส่วนยอดขายที่ลดลงจากเดือน ธ.ค.60 มีปัจจัยมาจากการจัดงานมหกรรมยานยนต์.