มังงะช่วยเติมฝันให้เด็กซีเรีย
“ สถานการณ์ในซีเรียแย่มากๆ จนผมคิดว่าคงทำให้เด็กๆ หยุดฝัน แต่เด็กเหล่านั้นคงฝันว่าสักวันหนึ่ง ซีเรียคงจะดีขึ้นอีกครั้ง ” โอบาดา คาสซูมาห์กล่าว
“ ผมหวังว่าแค่ผมเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ให้ความหวังเล็กๆ น้อยๆ และทำให้เด็กๆเชื่อว่า พวกเขาสามารถมีฝันได้ ”
โอบาดาเป็นนักศึกษาชาวซีเรียในกรุงโตเกียว จากส่วนผสมระหว่างโอกาสและความมุ่งมั่นตั้งใจทำให้เขากลายเป็นนักแปลการ์ตูนมังงะจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาอาหรับ
และด้วยโชคชะตาที่พลิกผัน ทำให้หนังสือการ์ตูนชื่อดังระดับตำนานอย่าง ‘กัปตันซึบาสะ’ ในเวอร์ชั่นภาษาอาหรับถูกบริจาคให้กับองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือและกระจายไปยังผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่เป็นเด็กๆ ทั่วยุโรปและตะวันออกกลาง
จากการเป็นนักศึกษาที่เรียนภาษาญี่ปุ่นในมหาวิทยาลัยในเมืองดามัสกัส ซึ่งเป็นเมืองหลวงของซีเรีย โอบาดาได้รับทุนให้มาเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นในโครงการแลกเปลี่ยน ในปี 2555 และเรื่องราวทั้งหมดก็เริ่มต้นขึ้นจากเวลานั้น
ในช่วงนั้น สถานการณ์ในซีเรียเริ่มเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ และบ่อยครั้งที่เขาถูกตำรวจตามท้องถนนสั่งให้หยุดเพื่อตรวจค้น เนื่องจากสงสัยว่าคนหนุ่มอย่างเขาอาจเป็นนักรบของกลุ่มกบฎ และเมื่อสถานการณ์อันตรายถึงที่สุด พ่อแม่เขาก็ตัดสินใจส่งเขาไปอยู่กับป้าที่จอร์แดนเพื่อรอจนกว่าจะได้เดินทางไปโตเกียว ซึ่งเกือบจะสายเกินไป เขาต้องใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเพื่อช่วยจัดการให้เขาข้ามพรมแดนไปได้สำเร็จ
เมื่อสิ้นสุดทุนในปีต่อมา เขาสามารถอยู่ต่อในญี่ปุ่นด้วยการสมัครเป็นนักศึกษาปกติ และทำงานพาร์ทไทม์ด้วยการแปลการ์ตูนเรื่องกัปตันซึบาสะไปด้วย
“ ตอนผมเด็กๆ ผมเคยดูกัปตันซึบาสะทางโทรทัศน์และผมชอบมาก ” โอบาดาในวัย 26 ปีกล่าว
ทางสำนักพิมพ์ตัดสินใจอยู่นานกว่าจะตีพิมพ์เป็นภาษาอาหรับ จากคำแนะนำของอาจารย์มาซาโนริ นาอิโตะ ผู้เชี่ยวชาญภาษาอาหรับประจำมหาวิทยาลัยโดชิชาในเกียวโต ได้ทำให้บริษัทผู้พิมพ์บริจาคมังงะเรื่องนี้ให้กับเด็กผู้ลี้ภัย
ด้วยความร่วมมือขององค์กร NGO หลายแห่งและองค์กรยูนิเซฟ มังงะเรื่องนี้ได้ถูกส่งไปแจกจ่ายให้กับเด็กๆ ชาวซีเรียที่ลี้ภัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยทั่วยุโรป ตุรกี และตะวันออกกลาง
“ เป็นเรื่องที่ห่างไกลจากความเป็นจริงที่พวกเขารู้จัก แต่สำหรับเด็กๆ นี่เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยให้พวกเขาหลบหนีออกจากความจริงที่โหดร้ายได้ชั่วครู่ และหนังสือเรื่องนี้ทำให้เด็กๆมีความหวังสำหรับอนาคตของพวกเขาต่อไป ” อาจารย์นาอิโตะกล่าว
โดยอาจารย์นาอิโตะกล่าวว่า มังงะเป็นเหมือนเครื่องมือของพลังที่นุ่มนวลในการต่อสู้กับความสิ้นหวังและแนวคิดหัวรุนแรงได้.