ตั้ง “วิรัช” ประธานแก้รัฐธรรมนูญ “ไพบูลย์” รอง “สิระ” โฆษก
เคาะแล้ว วิรัช จากพรรคพลังประชารัฐ นั่งประธานกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่อาคารรัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พุทธศักราช … (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ครั้งแรก โดยมีวาระเลือกตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะกรรมาธิการ โดยตำแหน่งประธานกรรมาธิการ พรรคร่วมรัฐบาลเสนอนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอนายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ทั้งนี้ มติที่ประชุมเลือกนายวิรัช เป็นประธานกรรมาธิการ
สำหรับตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะกรรมาธิการ ดังนี้ ประธานกรรมาธิการ 1 คน คือ นายวิรัช รัตนเศรษฐ
รองประธานกรรมาธิการ คนที่ 1-9 คือ นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายสมชาย แสวงการ นายศุภชัย ใจสมุทร นายธีรัจชัย พันธุมาศ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ นายวิเชียร ชวลิต และนายวัชรา ณ วังขนาย ตามลำดับ
กรรมาธิการและที่ปรึกษา 6 คน คือ นายกล้านรงค์ จันทิก ศาสตราจารย์พิเศษกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ นายชลน่าน ศรีแก้ว พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง นายสุทัศน์ เงินหมื่น และนายเสรี สุวรรณภานนท์
โฆษกกรรมาธิการ 3 คน คือ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม นายสมคิด เชื้อคง และนายสิระ เจนจาคะ
เลขานุการกรรมาธิการ 1 คน คือ นายนิกร จำนง
ส่วนผู้ช่วยเลขานุการกรรมาธิการ คือ นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา นางสาวเพชรดาว โต๊ะมีนา นางสาวจิราพร สินธุไพร นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ นายโกศล ปัทมะ และนายฐิตินันท์ แสงนาค เป็นผู้ช่วยเลขานุการกรรมาธิการ คนที่ 1-6 ตามลำดับ
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้นัดประชุมคณะกรรมาธิการ เป็นประจำทุกวันศุกร์ เวลา 09.30 น. เป็นตันไป และให้นัดประชุมคณะกรรมาธิการครั้งต่อไป ในวันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน นี้
นายวิรัช ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับการทำงานของกรรมาธิการ กรอบเวลาจะเร็วหรือช้ากว่า 45 วัน ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ ขอดูการทำงานก่อน หากการประชุมสัปดาห์ละ 1 วัน คือ วันศุกร์นั้น ไม่เพียงพออาจจะเพิ่มเป็นวันเสาร์หรือไม่ หรือการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้น เพื่อดูแลรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติ ของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่เริ่มต้นสมัคร ซึ่งมีรายละเอียดมาก ต้องใช้เวลา และขอให้เป็นมติที่ประชุมก่อน
นายวิรัช กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีการเสนอเนื้อหาจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วย ก็ต้องพูดคุยกัน แต่อย่างไรก็ดี เนื้อหาแต่ละฉบับมีความคล้ายกัน ว่ากันด้วยเหตุผล ขณะเดียวกันยืนยันว่าการนำร่างฉบับพรรคร่วมรัฐบาลมาเป็นหลักพิจารณานั้น เป็นไปตามกฎหมาย