ดัชนีความเชื่อมั่นพุ่งทุบสถิติ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ม.ค.61 อยู่ที่ 80.0 จาก 79.2 ในเดือน ธ.ค.60 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 67.0 จาก 66.2 ในเดือน ธ.ค.60
“ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับสูงสุดรอบ 36 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้นตามการส่งออกและการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวดีขึ้นในปัจจุบันและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน” ศูนย์วิจัยฯ ระบุในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 ก.พ.2561
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 74.9 จาก 74.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 98.0 จาก 97.5
สำหรับปัจจัยบวก ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทย ปี 60 เป็น 4% จากประมาณการครั้งก่อน 3.8%, สศค.ปรับประมาณการจีดีพีปี2561 เพิ่มเป็น 4.2% จากเดิมคาด 3.8%, การส่งออกเดือนธ.ค. ขยายตัว 8.63%, คณะกรรมการค่าจ้างปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 5-22 บาท, ดัชนี SET เดือนธ.ค. ปรับเพิ่มขึ้น และ เงินบาทแข็งค่าเล็กน้อย
ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ราคาพืชผลทางการเกษตรอยู่ในระดับต่ำ, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับเพิ่มขึ้น, ความกังวลปัจจัยการเมือง จากการเลื่อนเลือกตั้ง, ความกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าทรงตัวสูง และความกังวลเรื่องบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจของไทยที่ดีขึ้นยังรับรู้ไปถึงต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากดัชนี้หุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้น และทิศทางของเงินบาทที่แข็งค่า เนื่องจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และการชำระดุล ขณะที่สินค้าเกษตรบางตัว เช่น ข้าว ยางพารา เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ส่วนปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลังยังต่ำอยู่
“การที่ดัชนีฯ ปรับตัวสูงขึ้นแต่ยังไม่โดดเด่นเพราะยังมีปัจจัยลบที่ยังมีน้ำหนัก จะเห็นว่าคนเริ่มลังเลว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะสดใสหรือไม่”
ขณะที่มองว่า ปัญหาเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและสถานการณ์ทางการเมืองส่งผลกระทบในระยะสั้นแค่ให้เกิดความกังวลเท่านั้น แต่ยังไม่ส่งผลกระทบให้การเติบโตทางเศรษฐกิจพลิกผันไปจากเดิม ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการรองรับผลกระทบจากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจากงบกลางปี งบก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์ฯ ยังคงมุมมองทางเศรษฐกิจปีนี้เช่นเดิมว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวที่ระดับ 4.2-4.5% ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 31.50 บาท/ดอลลาร์ การส่งออกขยายตัว 5% ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 37 ล้านคน ซึ่งช่วงปลายไตรมาสที่ 2/61 น่าจะเห็นภาพที่ชัดเจน
“ศูนย์พยากรณ์ฯ ยังไม่เปลี่ยนมุมมองทางเศรษฐกิจ ขอรอดูตัวเลขสภาพัฒน์ ภาวะเศรษฐกิจของเอสเอ็มอี ดัชนีหุ้น และตัวเลขสองเดือนปีนี้ก่อน เดือนมีนาฯ จะสรุปอีกที แต่เชื่อว่าไม่มีการปรับลงแน่นอน มีแต่ปรับขึ้นอย่างเดียว”.