กมธ.ปิ๊งไอเดีย ให้ผู้สมัครส.ส.จัดมหรสพในเวทีหาเสียง
เป็นที่ฮือฮาในแวดวงการเมือง เมื่อคณะกรรมาธิการฯ เสนอให้ผู้สมัครส.ส. จัดให้มีมหรสพ-งานรื่นเริงมาประกอบการหาเสียงได้
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ยังคงเดินหน้าพิจารณาร่างกฎหมายลูก ส.ส. อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แล้วเสร็จทันส่ง เข้าที่ประชุม สนช.ในวันที่ 25 มกราคมนี้
ล่าสุดยังคงวิธีการคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อตามแบบของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้มีสมาชิก สนช.แปรญัตติ เพิ่มเนื้อหาเข้ามามากมาย โดยเฉพาะที่เสนอให้มีมหรสพ และงานรื่นเริงมาประกอบการหาเสียงได้ ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมากเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้
นายเสรี สุวรรณภานนท์ กรรมาธิการฯ กล่าวว่า นอกจากการปราศรัยใหญ่ที่มีผู้สนใจออกมาฟังการหาเสียงแล้ว ในระดับทั่วๆไป การจะให้คนออกมาฟังปราศรัยผู้สมัครอื่นๆ มักมีจำนวนคนฟังออกมาไม่มากนัก หากจะมาได้จะต้องมีการว่าจ้างกันให้ออกมา เกณฑ์กันมา หรือ บังคับโดยใช้อิทธิพลหรือระบบอุปถัมภ์เกณฑ์คนออกมาฟังการปราศรัยหาเสียง ซึ่งจะมาเฉพาะพวกใครพวกมัน ทำให้บรรยากาศของการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่เคร่งเครียด ขาดแรงจูงใจ
“ดังนั้น จึงควรน่าจะเปิดโอกาสให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองสามารถใช้มหรสพ เป็นเครื่องจูงใจให้คนทั่วไปออกมาฟังการหาเสียงหรือนโยบายของพรรคการเมือง ไม่เฉพาะคนที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งเท่านั้น ยังชักจูงให้เด็กเยาวชนหรือคนที่ยังมิได้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งออกมาฟังการหาเสียงหรือนโยบายตั้งแต่เป็นเด็กและเยาวชนอีกด้วย อันเป็นการเสริมสร้างและพัฒนาประชาธิปไตย” นายเสรี กล่าว
ทำให้นักการเมืองรุ่นใหญ่ อย่าง นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอให้มีมหรสพ และงานรื่นเริงมาประกอบการหาเสียงได้ว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะให้มีมหรสพ และงานรื่นเริงมาประกอบการหาเสียงเพื่อเป็นกลยุทธ์จูงใจ ให้ประชาชนมาฟังการหาเสียงมากขึ้น เนื่องจากในระยะหลังประชาชนสนใจฟังการปราศรัยหาเสียงลดลง
“สาเหตุที่ประชาชนฟังการปราศรัยหาเสียงมีจำนวนลดลง เพราะประชาชนมีช่องทางรับรู้ข้อมูลข่าวสารของนักการเมืองพรรคการเมืองผ่านช่องทางการสื่อสารอื่นๆ อีกมากมายหลายช่องทาง ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่การจะรับรู้ข้อเสนอแนวนโยบายต่างๆ ของพรรคการเมืองรวมถึงคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งมีไม่กี่ช่องทาง โดยเฉพาะในปัจจุบันมีช่องทางการสื่อสาร เพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งผ่านโซเซียลมีเดียได้หลากหลายรูปแบบ จึงทำให้ประชาชนสนใจฟังปราศรัยหาเสียงลดลง” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
นายองอาจ กล่าวว่า นอกเหนือจากนั้นแนวทางการปฏิรูปการเมืองยังเน้นเรื่องการใช้เงินที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และการใช้จ่ายทางการเมืองให้เป็นไปอย่างเหมาะสมไม่ให้ใช้มากไปเกินความจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองใช้อำนาจทุจริตเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในการเลือกตั้งที่ไม่สมควรหรือเกินความจำเป็น เพราะฉะนั้นในยุคปฏิรูปการเมืองเราควรยึดแนวทางให้มีการใช้จ่ายเงินที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์ของการทำงานการเมืองอย่างแท้จริง น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าการส่งเสริมให้มีช่องทางการใช้จ่ายที่เหมาะสมเพิ่มมากขึ้น.