จุดจบ “โรงไฟฟ้าชุมชน” !!
ในที่สุดก็ฝันสลาย…กลับไปอยู่ที่เดิมอีกครั้ง สำหรับโรงไฟฟ้าชุมชนที่ล้มลุกคุกคลานมาตั้งแต่ต้น จากนโยบายของ อดีตรมว.พลังงาน “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” ที่ กล้าๆกลัวๆ
กลัวว่า “โรงไฟฟ้าชุมชน” จะสร้างปัญหาให้กับตนเอง เพราะลือกันหนาหูว่า มีขบวนการหาผลประโยชน์ค่อยวิ่งเต้นทุกขั้นทุกตอนตั้งแต่ท้องถิ่น ยัน กระทรวงพลังงาน…
แต่สุดท้ายก็ “กลับลำ” มาสนับสนุนนโยบาย รองนายกรัฐมนตรี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ที่ต้องการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร นอกเหนือจากรายได้ภาคเกษตรกรอย่างเดียว
โดยการพยายามที่จะหาพืชทดแทนที่จะมาสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นและชุมชน ไม่แพ้พืชที่เคยปลูกจากดั้งเดิม หรือ ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น พืชในกลุ่มให้พลังงาน อย่างเช่น หญ้าเนเปียร์ หรือ สบู่ดำ ซึ่งเป็นพืชพลังงาน ที่สามารถสร้างรายให้กับชุมชนอย่างคุ้มค่า
และที่สำคัญชุมชนยังจะมีโอกาสในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อขายให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เฉกเช่นเดียวกับผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่
แต่สุดท้าย…โอกาสที่จะเห็นความรุ่งโรจน์ของ “โรงไฟฟ้าชุมชน” ก็มีอันต้องหรี่ลง
อันเนื่องมาจาก รองนายกรัฐมานตรี และ รมว. พลังงาน “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” เห็นว่า ปัญหาโควิดฉุดให้เศรษฐกิจไม่ขยับเดิน การใช้ไฟฟ้าลดลง ส่งผลให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองล้นประเทศ
ล้มเกินมาเกือบ 10,000 เมกะวัตต์ หรือ เกือบ 50 % จากสัดส่วนปริมาณสำรองไฟฟ้าตามแผนที่จะต้องอยู่ที่ประมาณ 15 -18 % กฟผ.เองก็พยายามเร่งระบาย เร่ขายให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง พม่า และ กัมพูชา
แต่ก็ไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะสถานภาพเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้าน ก็มิแตกต่างกับสถานภาพเศรษฐกิจของไทย
เหล่านี้ จึงเป็นเหตุผล ไม่แจ้งเกิดโรงไฟฟ้าชุมชนอีกต่อไป…
จากแผนเดิมที่จะรับซื้อไฟฟ้า โดยแบ่งเป็นประเภท Quick Win ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ และประเภททั่วไป 600 เมกะวัตต์ รวม 700 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565
วันนี้ถูกหั่นให้เหลือเพียง โครงการนำร่อง 150 เมกะวัตต์ โดยใช้เชื้อเพลิงประเภท ชีวมวล 75 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพอีก 75 เมกะวัตต์
และหากโครงการนำร่อง 150 เมกะวัตต์ ไม่ประสบผลสำเร็จ กระทรวงพลังงานอาจจะพิจารณายกเลิกการดำเนินโครงการในส่วนที่เหลือทั้งหมด 1,933 เมกะวัตต์
โรงไฟฟ้าชุมชน ถูกคาดหวังว่าจะมาสร้างอนาคตให้เกษตรกรให้อยู่ดี กินดี ทุกพื้นที่ในประเทศไทย แต่บัดนี้กลับกลาย เป็นภาระ สร้างปัญหา… สุดท้าย…ก็เลี้ยงไม่โต เช่นเดียวกับ โครงการโซลาร์ภาคประชาชน ที่วันนี้ ประชาชน ล้วนเมินหน้านี้
ทั้งปัญหาต้นทุนสูง สัญญารับซื้อไฟฟ้าน้อยไปเพียง10 ปี ระบบแบตเตอรี่สำรองที่จะนำมากักเก็บพลังงานยังไม่เหมาะสมเพียงพอ รวมทั้งราคารับซื้อไฟฟ้าที่ต่ำเพียง 1.68 บาทต่อหน่วย ที่ไม่ได้รับการปรับแก้ให้เดินหน้าต่อไป
สุดท้ายก็เลี้ยงไม่โต…
ดังนั้น การตัดสินใจของรัฐบาลที่จะให้ความสำคัญกับชุมชน ด้วยการเพิ่มรายได้จากแหล่งใหม่จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากในอนาคต
เพราะหากรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงพลังงาน ให้ความสนใจและเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ ก็ไม่ต่างกับการเอาเงินค่าไฟของประชาชนมาสร้างเศรษฐีใหม่ให้กับสังคมไทย
ซึ่งเศรษฐีหน้าใหม่ เหล่านี้ก็มีทั้งความรู้ เงินทุน เหนือกว่า ชุมชน ในทุกๆด้าน ทั้งยัง ถือไพ่เหนือกว่า ชุมชน ทุกประตู
ดังนั้นแนวความคิดที่จะปิดฉากโรงไฟฟ้าชุมชน จึงทำให้ความเหลื่อมลำของสังคม ที่คาดหวังว่าจะมีรายได้อื่นที่นอกเหนือจากการเกษตร จำต้องเลือนรางหายไป
ทั้งๆที่มีหลายชุมชนที่มีศักยภาพสูง มีความพร้อมที่จะทำโรงไฟฟ้า แต่ต้องมาหมดหวัง สูญเสียโอกาส สูญเสียรายได้ ด้วยข้ออ้างจากโควิด
หลายสำนัก คาดการณ์ว่า อีก 2 ปีเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวดั่งเดิม หากไม่เกิดการระบาดรอบที่ 2 นั่นก็หมายความว่า ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าย่อมเพิ่มขึ้นตาม
แต่ “โรงไฟฟ้าชุมชน” กลับกำลังเหลือแค่ชื่อ จารึก ไว้ใน วิกิพีเดีย เฉกเช่น โครงการโซลาร์ภาคประชาชน
จุดจบ วิสัยทัศน์ … ความฝัน ความหวัง ความสำเร็จ….ต้องพับเก็บใส่ลิ้นชัก แฟร์ หรือ ไม่ ถามใจเธอดู ?!