ครม.ไฟเขียวเพิ่มค่าลดหย่อนเที่ยวเมืองรอง
กรมสรรพากรผ่อนคลายมาตรการท่องเที่ยว ยอมรับใบเสร็จ หรือบิลเงินสด จากผู้ประกอบการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้นักท่องเที่ยวนำมาลดหย่อนภาษีได้ตลอดทั้งปี 2561
“กรมสรรพากรยอมที่จะผ่อนคลายไม่ใช่ใบกำกับภาษีมูลค่า (แวต) กับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเมืองรอง เนื่องจากผู้ประกอบการเหล่านี้ มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์จะต้องจดทะเบียนภาษีแวต เพราะมีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี” นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวและกล่าวว่า
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2560 คณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่ จ.สุโขทัย มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.61 โดยสามารถนำค่าใช้จากการท่องเที่ยวในเมืองรองมาคิดเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เช่น ค่าอาหาร ค่าที่พัก โดยไม่จำเป็นต้องพักเฉพาะโรงแรมเท่านั้น ซึ่งจะรวมถึงที่พักทีเป็นรีสอร์ท โฮมสเตย์ โดยกระทรวงการคลังคาดว่า จะสูญเสียรายได้จากมาตรการนี้ ประมาณ 200-300 ล้านต่อปี แต่จะกระจายรายได้ไปยังชนบทได้อย่างทั่วถึง
ส่วนอีก 22 จังหวัดที่เหลือ ให้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาไปพิจารณา หากเห็นว่าควรจะได้รับการส่งเสริมด้วย ก็สามารถประกาศเพิ่มเติมเป็นรายกรณีได้ ขณะที่มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตรนั้น รมว.คลัง คาดว่ากระทรวงการคลังจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม.ได้ในอีก 2 -3 สัปดาห์
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมครม.ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง) ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ
สาระสำคัญคือ กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการจัดอบรมสัมมนาหรือรายจ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เพื่อการอบรมสัมมนา
พร้อมทั้งกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายและมัคคุเทศก์ หรือจ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรมให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมาย สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 15,000 บาท
สำหรับ 55 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช อุดรธานี เชียงราย ลพบุรี พิษณุโลก สุพรรณบุรี อุบลราชธานี นครนายก หนองคาย สระแก้ว เลย ตาก ตราด เพชรบูรณ์ จันทบุรี มุกดาหาร นครสวรรค์ ราชบุรี สมุทรสงคราม บุรีรัมย์ ชัยภูมิ พัทลุง ตรัง ศรีสะเกษ ปราจีนบุรี สตูล ชุมพร สุโขทัย สุรินทร์ สกลนคร ลำพูน นครพนม อุตรดิตถ์ ระนอง ลำปาง ร้อยเอ็ด แม่ฮ่องสอน พิจิตร แพร่ ชัยนาท น่าน อ่างทอง มหาสารคาม กำแพงเพชร อุทัยธานี นราธิวาส ยะลา พะเยา บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ยโสธร สิงห์บุรี หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และปัตตานี หรือเขตพื้นที่อื่นใดที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากำหนด
“บางจังหวัดที่แหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวนิยมไปกันเป็นบางพื้นที่ เช่น จังหวัดสุรษฎร์ธานี ซึ่งนักท่องเที่ยวจะนิยมไปคือเกาะสมุย รัฐมนตรีวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ (รมว.ท่องเที่ยว) ก็รับว่าจะไปดูในรายละเอียดอีกที”