สรรพากรชงครม.หนุนภาษีท่องเที่ยวเมืองรอง
“กรมสรรพากร” ชง ครม.ไฟเขียวมาตรการเพิ่มหักค่าลดหย่อนเพื่อสนับสนุนท่องเที่ยวเมืองรอง 15,000 บาทต่อปี ตลอดปี 2561 คาดสูญรายได้ 1 หมื่นล้านบาท โดยให้ ททท.เป็นผู้กำหนดหัวเมืองรอง เพราะมีความเชี่ยวชาญมากกว่า
“ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 ธ.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง ตามที่กรมสรรพากรเสนอ โดยมีหลักการว่ากรมสรรพากรจะเพิ่มการหัก ค่าลดหย่อนจากการท่องเที่ยวเมืองคนละไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี ตลอดระยะเวลา 1 ปี หรือภายในปี2561 ซึ่งจะเริ่มมา ตรการดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2561” นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวและกล่าวว่า
มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง มีหลักการที่ผ่อนปรนมากๆ โดยนักท่องเที่ยวที่ไปใช้บริการ เช่น โรงแรม โฮมสเตย์ ร้านอาหารและร้านค้าโอทอป หรือร้านค้าขายของที่ระลึกชมชุน ที่อยู่ในเมืองรองของธุรกิจการท่องเที่ยว ตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำหนด จะสามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักค่าลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี โดยนำเอกสารหลักฐานทางด้านภาษี เช่น ใบเสร็จรับเงินหรือบิลเงินสด มาใช้เป็นเอกสารรับรองการหักค่าลดหย่อนได้แล้ว ซึ่งแตกต่างจากมาตรการสนับสนุนท่องเที่ยวเดิมที่ต้องใช้ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบของภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) เท่านั้น ขณะที่ โรงแรมและร้านค้าต้องจดทะเบียนเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วย
นายประสงค์ กล่าวว่าการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวเพื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวในเมืองรองที่เป็นชนบท หรือเมืองที่ไม่ค่อยได้รับประโยชน์จากท่องเที่ยวมากนัก คาดหวังว่าจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากทุกบาททุก สตางค์ที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายถือเป็นการกระจายรายได้ไปถึงชาวชนบทโดยตรง ส่วนเมืองใดจะเป็นเมืองรองนั้น กระทรวงการคลังได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ช่วยกำหนดเมืองรองแทนกรมสรรพากร เนื่องจากกระทรวงท่องเที่ยวฯ มีความเชี่ยวชาญทางด้านการท่องเที่ยวมากกว่ากรมสรรพากร เช่น อ.หาดใหญ่ ไม่น่าจะใช้เมืองรองเมื่อเทียบกับ จ.สงขลา เป็นต้น
“ยอมรับว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้จากเม็ดเงินภาษีบ้าง เบื้องต้นคาดว่าจะสูญเสียรายได้ไม่ถึง 10,000 ล้านบาท แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วคุ้มค่า เพราะจะทำให้เกิดรายได้ที่กระจายไปทั่วประเทศ โดย เฉพาะในเมืองรอง ซึ่งรากหญ้าก็จะได้ประโยชน์จากการมีรายได้เพิ่มขึ้น”
นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังอยู่ระหว่างการเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยได้หักเป็นค่าลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000 บาท ไม่จำกัดจำนวน จากเดิมหักค่าลดหย่อนบุตรไม่เกิน 3 คน และเพิ่มเงินฝากครรภ์บุตรคนละ 60,000 บาท โดยมาตรการนี้ สำหรับการจ่ายตั้งแต่ 1 ม.ค.2561 เป็นต้นไป ซึ่งมาตรการเพิ่มค่าลดหย่อนบุตรไม่ต้องแก้ไขกฎหมายเพียงเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ แต่มาตรการเพิ่มเงินฝากครรภ์บุตรจะต้องแก้ไขประมลรัษฎากร ซึ่งอาจจะไม่ทันปีภาษี2560 ยืนปี2561
“มาตรการดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้คนไทยมีบุตรเพิ่มขึ้น หลังจากมีข้อมูลระบุว่าในอนาคตประเทศไทยจะเข้าสู่ประ เทศสังคมผู้สูงอายุ โดยจากจำนวนประชากรประมาณ 70 ล้านคนนั้น มี 25 ล้านคนที่อยู่ในวัยทำงาน ส่วนอีกประมาณ 40 ล้านคน มีอายุเกิน 60 ปี ดังนั้นมาตรการดังกล่าวที่ออกมาเพื่อรองรับภาวะประชากรผู้สูงอายุในอนาคตนั่นเอง”
ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเก็บภาษีจากผู้ประกอบการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ว่า กรมสรรพากรจะเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายใหม่อีกครั้งในเดือนม.ค.2561 หลัง จากเดิมรับฟังความคิดเห็นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. – 11 ก.ค.2560 ซึ่งพบว่ามีผู้แสดงความคิดเห็นทั้งสิ้น 64 ราย เห็นด้วย 29 ราย ไม่เห็นด้วย 35 ราย จึงจำเป็นต้องการเปิดรับความเห็นอีกครั้ง
“คาดว่า หลังรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จ และมีการนำความคิดเห็นต่างๆ มาปรับปรุงให้เข้ากับกฎหมาย เพื่อให้มีความเหมาะสมมากที่สุด สามารถตอบทุกคำถามได้อย่างชัดเจน แล้วจึงจะเสนอให้ ครม.พิจารณา คาดว่าจะสามารถประกาศ ใช้กฎหมายได้ภายในปี 2561โดยขอยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้จะไม่ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพอย่างแน่นอน เพราะตามปกติผู้ประกอบการต้องมีการเข้าระบบเพื่อเสียภาษีอย่างถูกต้องอยู่แล้ว”
นอกจากนี้ ในวันที่ 1 ม.ค.2561 จะมีการเปิดตัวแอพพลิเคชั่นของกรมสรรพากร เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารหรือแจ้งเบาะ แสสำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าระบบเสียภาษีอย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีทั้งหมด โดยเมื่อมีผู้แจ้งเบาะแสเข้ามา กรมสรรพากรจะมีการตรวจสอบข้อมูลในรายละเอียดของผู้เสียภาษีว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้ ยืนยันว่าระบบดังกล่าวจะมีความปลอดภัยกับทั้งผู้แจ้ง และผู้เสียภาษีทุกคนด้วย.