“คณิศ”ปั้นงบปี 65 บูรณาการพื้นที่อีอีซี
ไม่ใช่ครั้งแรกที่สำนักงานอีอีซี จัดประชุมชี้แจงส่วนราชการ เพื่อขับเคลื่อนงบประมาณบูรณาการ ในเขตพื้นที่อีอีซี ประจำปีงบประมาณ 2565 เพราะที่ผ่านมา อีอีซีทำแผนงบประมาณบูรณาการแบบนี้มาแล้ว 3-4 ครั้ง ตั้งแต่งบประมาณปี 2562
เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2563 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้เชิญผู้แทนจาก 22 กระทรวง และรัฐวิสาหกิจ รวม 120 แห่ง เพื่อชี้แจงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ซึ่งขณะนี้ ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี2564 (ต.ค.63-ก.ย.64) โดยงบประมาณปี2565 จะเริ่มใช้ในในวันที่ 1 เดือนต.ค.2564 ซึ่งยังเหลือระยะเวลาอีกหลายเดือนกว่าจะประกาศเป็นกฎหมายก็ตาม
แต่ผู้อำนวยองค์กร “นายคณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการ สกพอ.ต้องการแจ้งเกิดโครงการอีอีซีอย่างเป็นรูปธรรม แม้ว่า โครงการอีอีซี จะประกาศสู่สายประชาชน และเชิญชวนนักลงทุนครั้งแรกเมื่อปี2561 ในยุคที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ก็ตาม แต่หากขาดงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ โดยหวังพึงแต่งบลงทุนของเอกชนเพียงฝ่ายเดียว โครงการนี้ คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้
“งบประมาณจากภาครัฐ เปรียบเสมือนโครงสร้างพื้นฐาน หากไม่มีโครงสร้างพื้นฐานแล้ว โครงการที่จะตามมาก็ไม่เกิดขึ้น ดังนั้น หากหน่วยงานไหน เสนองบประมาณไม่ตรงกับบูรณาการตามแผนงานที่วางเอาไว้ เรา (สำนักงบประมาณ) จะตัดออกทั้งที” นายคณิศ กล่าวและกล่าวว่า
งบประมาณปี2565 ในส่วนของอีอีซี ของทุกหน่วยงานมีเพียง 20,000 ล้านบาทเท่านั้น เมื่อเทียบกับประมาณรายจ่ายนับล้านล้านบาท และเมื่อเทียบกับงบลงทุนในโครงการของอีอีซี ที่มีวงเงินรวม 1.5-1.7 ล้านบาท เริ่มต้นนับหนึ่งตั้งแต่ปี2561 แต่กว่า จะเป็นรูปเป็นร่างก็ประมาณปี2563 จนถึงปี2567 ตามแผนการลงทุนระยะเวลา 5 ปี เฉลี่ยจะมีงบลงทุนจากภาค เอกชนปีละเกือบๆ 300,000 ล้านบาท และมีงบสนับสนุนจากรัฐบาลอีกก้อนหนึ่ง ซึ่งในงบปี2565 มีประมาณ 20,000 ล้านบาท ไม่ถึง 20% ซึ่งถือว่า มีจำนวนน้อยมากๆ แต่หากไม่มีงบก่อนนี้แล้ว โครงการการในอนาคตก็จะไม่เกิด เพราะไม่มีโครงการที่เริ่มต้นนับหนึ่ง
เช่น การศึกษาจีโนมิกส์ หรือ Genomics คือศาสตร์ที่ศึกษาค้นคว้าหากลุ่มยีน หรือพันธุกรรมของเซลล์สิ่งมีชีวิต เพื่อหารูปแบบการจัดเรียงตัว/จัดกลุ่มของดีเอ็นเอ หากกระทรวงการสาธารณสุข ไม่ลงไปเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ โครงการ Genomics ก็จะไม่เกิดขึ้น เป็นต้น
นายคณิศ กล่าวว่า นับจากนี้ไป โครงการที่เกิดขึ้นในอีอีซี จะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องของสังคมและคน เพราะตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โครงการใหญ่ๆ ได้รับไฟเขียวและพ้นจากมือเราไปเกือบหมดแล้ว เช่น สนามบินอู่ตะเภา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เรื่องทางด้านการศึกษาและการเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน ส่วนที่ยังเหลืออยู่ก็คือ การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ (Smart City) (อีอีซีจะพัฒนาเป็นเมืองศูนย์กลางการบิน) โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO)
“โครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ สำคัญๆ คิดว่า เสร็จไปหมดแล้ว แต่ส่วนที่เหลือ หากไม่มีเงินงบประมาณมาเติม อีอีซีก็ไม่เกิด”
สำหรับแผนการลงทุน 5 ปี (2563-2567) ของอีอีซี คาดว่าจะมีเงินลงทุนมากกว่า 1,787,376 ล้านล้านบาท และตั้งแต่ปี 2561-2563 อีอีซี ได้รับงบประมาณจากรัฐ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปแล้ว 36,836 ล้านบาท โดยปี 2561 อยู่ที่ 6,938 ล้านบาท 33 โครงการ ใช้งบไป 79%, ปี 2562 ได้งบ 14,842 ล้านบาท 27 โครงการ ใช้งบไป 92%, ปี 2563 ได้งบ 15,055 ล้านบาท 36 โครงการ ใช้ไป 99%, ปี 2564 ได้งบ 20,000 ล้านบาท
ขณะที่ปีงบประมาณ2565 มีงบบูรณาการ 20,000 ล้านบาท จะยึด 4 แนวทางหลักคือ 1.แผนด้านการเกษตร พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เมืองใหม่ 2.แผนพัฒนาระบบสาธารณสุข ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 3.แผนพัฒนาบุคลากรการศึกษาและ 4.การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ในพื้นที่
ส่วนกรณี นายโจ ไบเดน ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า จะส่งผลบวกต่อการลงทุน และจะมีความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนกับสหรัฐฯ มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green) เพราะไบเดนเน้นลดภาวะโลกร้อนจะดึงนักลงทุนจากสหรัฐได้มากขึ้น
และแน่นอนว่า ทั้งสหรัฐฯ และจีน ต้องการใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตเพื่อการส่งออก เราจำเป็นต้องเพิ่มข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และความตกลงหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (ซีพี ทีพีพี) ต่อไป.