คลังสั่งรื้อโครงสร้างภาษีใหม่ทั้งระบบครบ 3 กรมฯ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารกรมสรรพากร ว่า ขอชื่นชมที่กรมสรรพากรนำเทคโนโลยีมาช่วยในการดำเนินงาน ทั้งการจัดเก็บรายได้ สร้างช่องทางชำระภาษีที่สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย รวมถึงเร่งคืนภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างแรงจูงให้ผู้เสียภาษีเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ยังขอให้กรมสรรพากรเร่งขยายฐานภาษีไปถึงกลุ่มคนที่ยังไม่เข้าระบบภาษี เพื่อสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ปัจจุบันพบว่ามีผู้เสียภาษีราว 9 ล้านคน แต่ 6 ล้านคนไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะเสียภาษี มีเพียง 3 ล้านคนเศษเท่านั้น ที่เสียภาษี จึงจำเป็นจะต้องดึงเอาคนที่มีฐานรายได้อยู่ในเกณฑ์ ที่ยังไม่เข้าระบบภาษีมาอยู่ในระบบให้ได้ นอกจากนี้ ยังให้ไปหารือกับกรมศุลกากรและกรมสรรพสามิต เพื่อพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีใหม่ทั้งระบบ หลังจากใช้โครงสร้างภาษีเก่ามายาวนานแล้ว ซึ่งบางตัวอาจปรับอัตราภาษีขึ้นและบางตัวอาจปรับลง โดยจะพิจารณาทั้งระบบ
รวมถึงนำแนวคิดเดิมที่พรรคแกนนำรัฐบาล นำมาใช้ในการหาเสียงก่อนหน้านี้ ประกอบการพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีใหม่ โดยไม่ได้กำหนดกรอบเวลาว่าจะต้องแล้วเสร็จเมื่อใด เพียงแต่ต้องไปหารือร่วมกันระหว่างกรมจัดเก็บภาษี เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับเมื่อปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ยุติลง
“นายกรัฐมนตรีกำชับให้ดูแลภาคธุรกิจทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าย่อย ซึ่งเราได้ทำมาตลอด ผ่านโครงการ/มาตรการต่างๆ เช่น ชิมช้อป,ใช้เราเที่ยวด้วยกัน, คนละครึ่ง, ช้อปดีมีคืน ฯลฯ” รมว.คลังย้ำและว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศผ่านมาตรการ/โครงการของรัฐบาลช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับโครงสร้างภาษีใหม่นั้น นอกจากจะช่วยในเรื่องการขยายฐานภาษีและสร้างความเป็นธรรมแล้ว รัฐบาลยังมุ่งหวังในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งด้านการใช้จ่ายและการบริโภคภายในประเทศ และการส่งเสริมการลงทุนที่อิงตามข้อเสนอแนะของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้แก่ ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และด้านสุขภาพของคนในชาติ รวมถึงรองรับกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโลกที่จะมีตามมา ทั้งหมดจะต้องช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกได้ด้วย
“สถานการณ์ตอนนี้ เราคงต้องพึ่งการใช้จ่ายในประเทศเป็นหลัก ด้านต่างประเทศมีเพียงแค่ด้านการส่งออกที่มีแนวโน้มค่อนข้างดีขึ้น ขณะที่ด้านการท่องเที่ยวคงชะลอตัวไปอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลเองได้พยายามกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ควบคู่กับการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออก ทั้งเรื่องการพักและยืดเวลาชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย รวมถึงเสริมสภาพคล่องให้ผู้ส่งออกในช่วงที่ผ่านมา”รมว.คลัง ระบุ.