สรุปข่าว 8-11-83
ส่องหุ้นไทย : บล.กสิกรไทยมองแนวโน้มตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้า (9-13 พ.ย.) คาดดัชนีฯ มีแนวรับที่ 1,245 และ 1,230 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,275 และ 1,300 จุดตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ประเด็นทางการเมือง และผลประกอบการไตรมาส 3/63 ของบจ.ของไทย
ตลอดจนสถานการณ์หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต ต.ค. ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ก.ย. และจีดีพีไตรมาส 3/63 ของยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต ต.ค. ของจีน ตลอดจนดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนต.ค. ของญี่ปุ่น
น้ำมันขยับลงอีก : ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ล่าสุด ปิดตลาดเมื่อเช้ามืด 8 พ.ย. พบว่า ราคาน้ำมับดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ซื้อขายล่วงหน้า งวดส่งมอบเดือน ธ.ค. ปิดลดลง 1.33 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล -3.43%) มาอยู่ที่ระดับ 37.46 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ งวดส่งมอบเดือน ม.ค.ปีหน้า ปิดตลาดลดลง 1.23 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (-3.01%) ที่ระดับ 39.70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล.
ทองขยับขึ้น : ราคาทองคำ Spot ดอลลาร์สหรัฐ ปิดตลาดช่วงเช้า 8 พ.ย.ของไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากวันก่อนแรงมากถึง 1.69 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (0.09%) ปิดที่ 1,951.21 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ด้านสมาคมค้าทองคำ ประกาศราคาทองคำเพียงครั้งเดียว เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 50 บาท โดยทองคำแท่งรับซื้อที่ 28,150 บาท ขาย 28,250 บาท ขณะที่ทองรูปพรรณ รับซื้อที่ 27,636.68 บาท และขายที่ 28,750 บาท.
บาทสัปดาห์หน้า : แบงก์กสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์หน้า (9-13 พ.ย.) ที่ 30.40-30.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณความไม่แน่นอนภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศของไทย ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ สำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนต.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย. (เบื้องต้น) นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจเดือนต.ค. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตด้วยเช่นกัน.
ไบเดนชนะ : The Associated Press รายงานผลการเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯอย่างไม่เป็นทางการ ระบุ โจ ไบเดน คือ ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐ ที่เอาชนะโดนัลด์ ทรัมป์ ไปด้วยคะแนน 290 ต่อ 214 หลังพลิกนำในรัฐจอร์เจียและเพนซิลเวเนีย ก่อนหน้านี้รัฐจอร์เจียประกาศนับคะแนนใหม่อีกครั้งเพื่อความแน่ใจหลังทั้งสองพรรคมีคะแนนค่อนข้างสูสี ขณะที่ทรัมป์ไม่ยอมรับกับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเชื่อว่ามีการทุจริต พร้อมยืนยันอีกครั้งว่าจะยื่นเรื่องให้ศาลสูงเป็นผู้ตัดสิน.
ลาออกซะ : นายการุณ โหสกุล ส.ส.เพื่อไทย แนะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไปพูดในหอประชุม วปอ. ทำนอง ถ้าวันหน้ามีคนที่เก่งกว่าตน ซื่อสัตย์กว่าตน ก็พร้อมที่จะส่งไม้ต่อ ว่า เป็นการพูดปกป้องตัวเอง เพราะไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่ยึดอำนาจมาจากประชาชน และยังให้พวกพ้องเขียนรัฐธรรมนูญฉบับลายพรางเพื่อให้ตัวเองสืบทอดอำนาจมาได้ถึงทุกวันนี้ และว่า ขณะนี้เหลือตัวเลือกเพียงประการเดียวที่พอจะให้แก้ตัวได้ หากต้องการเป็นคนดีให้คนทั้งชาติสรรเสริญ คือ ต้องรีบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ให้เร็วที่สุด.
ม็อบปะทะกัน : นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.ปชป. ห่วงการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มราษฎร 63 วันที่ 8 พ.ย. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขณะกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน ประกาศจะไปเฝ้าสังเกตการณ์ในบริเวณเดียวกันนั้น อาจสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากัน จนเกิดการปะทะกันในลักษณะม็อบชนม็อบได้ ส่วนไม่สนับสนุนให้จัดการชุมนุมลักษณะเช่นนี้ เพราะแต่ละกลุ่มต่างมีจุดยืน หรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งกัน อาจมีการเผชิญหน้ายั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรงได้.
ส่อยื้อแก้ รธน. : นายกิตติศักดิ์ รัตนวะราหะ ส.ว. ย้ำ ขณะนี้ ส.ว.บางส่วนเริ่มเคลื่อนไหวรวบรวมรายชื่อ ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าญัตติร่างแก้ไข รธนงทั้ง 6 ฉบับ ที่พรรคร่วมรัฐบาล กับพรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเฉพาะญัตติที่เสนอให้แก้ไขมาตรา 256 ที่ยังมีความเห็นต่างว่าต้องทำประชามติก่อนโหวตรับหลักการหรือไม่ เมื่อยังมีข้อสงสัยการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดคือทางปลอดภัยที่สุด ทั้งนี้ไม่ใช่การยื้อเวลา แต่เพื่อความปลอดภัย.
ไม่เร่งตั้ง : นายชวน หลีกภัย ปธ.สภาผู้แทนราษฎร และปธ.รัฐสภา ระบุถึงความคืบหน้าการตั้ง คกก.สมานฉันท์ ว่าได้วางแนวทางไว้ 2 ส่วน คือ 1.ปัญหาเฉพาะหน้าได้คุยกับเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าแล้ว ให้ฝ่ายที่ทำงานทำเงียบๆ 2.เรื่องกรรมการปรองดอง ทำระบบมองไปข้างหน้าไม่ใช่ปัญหาเฉพาะหน้า ต้องแยกเป็น 2 เรื่อง ดังนั้น เรื่องการตั้งกรรมการต้องรอหลังจากได้คุยกันพอสมควรแล้ว ยังบอกไม่ได้ว่าจะตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ได้ภายใน พ.ย.นี้หรือไม่ ยอมรับว่าคนที่ติดต่อไปส่วนใหญ่ ไม่อยากให้เอ่ยชื่อ เพราะหลายคนกลัวถูกนำไปวิจารณ์.
มาแพ็คคู่ : นายสิระ เจนจาคะ ส.ส. พปชร. โพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้นายชวน หลีกภัย ตอนนึ่งว่า ไม่ฟังความคิดเห็นตนที่เป็นผู้แทนจากการเลือกตั้ง ยังมาสวนอีกมันสมควรหรือไม่ ไม่นำเรื่องบรรจุเข้าสภาฯ มีอะไรเป็นพิเศษถึงต้องเป็นคนตัดสินใจเพียงคนเดียว สภาฯไม่มีความหมายแล้วหรือ ฟอร์มาลินอาจได้แช่กับคนเตือนก่อนก็ได้ มีดโกนจะสู้ขวานผ่าซากไม่ได้ ส่วน น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ โพสต์เฟซบุ๊กพร้อมติดแฮชแท็กว่า #อย่าขู่เพื่อนฉัน #ชวนขู่สิระ เมื่อท่านเริ่มช้าลงมีดโกนก็ไม่ค่อยคมเหมือนเดิม ผ่านมา 2 วันเพิ่งจะรู้สึก ตามประสา ช.ช.ช. #ชวนเชื่องช้า.
บ้าๆ บอๆ : นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษก ปชป. สวนนายสิระ เจนจาคะ และ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ที่กล่าวพาดพิงนายชวน หลีกภัย ระบุ ทั้งสองคนถือเป็นนักการเมืองที่ทำงานเข้าขากันดีมาก ส่งลูกรับลูกกันตลอด ถ้า พปชร.ยังให้คนเหล่านี้ออกมาทำตัวเพี้ยนๆ บ้าๆ บอๆ ความสมานฉันท์คงเกิดขึ้นยาก คนอื่นพยายามช่วยแก้ปัญหาบ้านเมือง แต่คนเหล่านี้เอาน้ำมันมาราดตลอด แล้วจะเดินหน้ากันอย่างไร เป็นถึง ส.ส.แต่ทำตัวเหมือนนมหมดอายุ.