มจธ.เพิ่มทักษะงานเชื่อมรองรับอุตสาหกรรม 10 S -Curve
มจธ. ตั้งศูนย์ KING ARC เพิ่มทักษะบุคลากรงานเชื่อมที่มีคุณภาพ รองรับอุตสาหกรรม 10 S -Curve ร่วมผลักดัน Local Content ชิ้นส่วนระบบราง
ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ที่เน้นการเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งในประเทศและในภูมิภาค รัฐบาลได้ทุ่มงบเพื่อพัฒนาระบบราง ทั้งรถไฟฟ้าความเร็วสูง, รถไฟรางคู่, รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ทำให้อุตสาหกรรมระบบรางของประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว ความต้องการบุคลากร เทคโนโลยี และอุปกรณ์ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าและพึ่งพาตนเองได้ แต่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรางของไทย ยังมีน้อยรายที่มีความสามารถในการแข่งขัน
การก่อตั้งศูนย์ KING ARC (Advanced Railway Research Center) ศูนย์ทดสอบระบบราง ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่เป็นมาตรฐานสากล ภายใต้ศูนย์วิจัยและบริการวิศวกรรมงานเชื่อม (KINGWELD) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เป้าหมายเพื่อให้บริการทดสอบมาตรฐานในระดับสากล และพัฒนาบุคลากร งานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อผลิตชิ้นส่วนระบบรางในประเทศ หรือ Local Content
“เป้าหมายคือการวิจัยเพื่อพัฒนาให้ภาคเอกชน บริษัท และโรงงานในไทย สามารถผลิตชิ้นส่วนระบบรางในประเทศ (Local Content) ได้เองเหมือนอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ตอนนี้สามารถผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศ ได้ถึง 90% เหลือแค่บางส่วนที่เป็นเครื่องยนต์ที่ยังไม่ได้ผลิต และระบบรางก็ควรจะเป็นเช่นนั้น โดยต้องไปพัฒนาตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้น มาตรฐานการผลิตของโรงงาน เมื่อผลิตได้แล้วก็ต้องทดสอบว่าผ่านความปลอดภัยและได้มาตรฐานที่จะนำไปใช้งานได้หรือไม่ และทางศูนย์ฯ วางเป้าหมายจะเป็นหน่วยรับรองผลิตภัณฑ์โรงงาน (Manufacturer Product Certification Body) ในอนาคต” รศ. ดร.บวรโชค ผู้พัฒน์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและบริการวิศวกรรมงานเชื่อม หรือ KMUTT’S Welding Research and Consulting Center (KINGWELD) และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. กล่าว
โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมมือกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว มาจากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการส่งเสริมการพัฒนาระบบราง ระหว่างกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 15 หน่วยงาน เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมลงนาม
จุดประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือให้ครอบคลุมด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี วิจัยและพัฒนา มาตรฐานระบบราง อุตสาหกรรมระบบราง ทดสอบและการทดลอง พัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพระบบขนส่งทางรางและความปลอดภัยในการให้บริการเดินรถไฟ ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ระบบราง ให้เป็นไปตามมาตรฐานระบบรางของประเทศและมาตรฐานสากล ช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการทดสอบวิเคราะห์ด้านระบบราง สนับสนุนการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) ทดแทนการนำเข้า สนับสนุนการผลิตบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญวิจัยด้านระบบราง ตลอดจนวิจัยและพัฒนาแก้โจทย์ปัญหาด้านระบบรางของประเทศ
“สิ่งที่จะต้องทำ คือ ปรับปรุงพัฒนาโรงงานให้สามารถผลิตชิ้นส่วนรถไฟได้ทั้งหมด ไม่ใช่ทุกอย่างต้องสั่งจากประเทศผู้ผลิต โดยประเทศผู้ผลิตต้องถ่ายทอดเทคโนโลยี อุปกรณ์ที่ต้องเปลี่ยนประจำให้กับไทย ซึ่ง มจธ.จะเป็นหน่วยงานวิจัยที่ทำ Product Development และเมื่อทำแล้วต้องมีการรับรอง และทดสอบตามมาตรฐาน เป้าหมายหลักคือประเทศไทยต้องทำ Local Content ให้ได้ ” รศ. ดร.บวรโชค กล่าว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ศูนย์ KINGWELD ได้ให้บริการงานทดสอบชิ้นส่วนต่างๆ ของระบบราง เช่น หมอนคอนกรีตที่จากเดิมจะต้องส่งไปทดสอบที่ต่างประเทศ แต่ปัจจุบันสามารถทดสอบได้ที่ห้องปฏิบัติการทดสอบระบบราง โดยผู้ประกอบการสามารถนำงานมาทดสอบที่มหาวิทยาลัย หรือขอคำปรึกษาทีมวิจัยเพื่อออกแบบสร้างอุปกรณ์ทดสอบติดตั้งไว้ที่โรงงานผลิต โดย KINGWELD จะจัดส่งวิศวกรจากมหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินการทดสอบว่าผลิตภัณฑ์ที่ส่งมอบนั้นมีคุณภาพหรือไม่
ปัจจุบัน KINGWELD มีความสามารถให้บริการทดสอบหมอนคอนกรีตสำหรับระบบรางได้เกือบครบทุกหัวข้อ รวมทั้งการทดสอบชิ้นส่วนรางรถไฟ ตามมาตรฐานงานเชื่อมต่อระบบราง อาทิ Flash Butt Welding Thermit Welding มาตรฐานเครื่องยึดเหนี่ยวราง และทดสอบความต้านทานไฟฟ้า ถือได้ว่า KINGWELD สามารถรับงานทดสอบได้ครอบคลุมทั้งระบบราง โดยทางมหาวิทยาลัยจะออกใบรับรองให้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบ ผู้ประกอบการที่นำชิ้นส่วนระบบรางมาทดสอบมีทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“KINGWELD ทำเรื่องระบบรางมานาน มีห้องปฏิบัติการ ห้องทดสอบที่ทันสมัย มีบุคลากรที่ชำนาญ และมีหลักสูตรอบรมคนทำงานในสายงานนี้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจงานด้านระบบราง ซึ่งความสามารถและฝีมือของKINGWELD นั้นเป็นที่ประจักษ์” รศ. ดร.บวรโชค กล่าว
รศ. ดร.บวรโชค กล่าวต่อว่า KINGWELD ดำเนินภารกิจ 4 ด้านหลักๆ คือ 1. ฝึกอบรมและออกใบรับรอง (TRAINING & CERTIFICATION) ซึ่งศูนย์อบรมของ KINGWELD ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล และมีหน่วยงานทั้งการไฟฟ้า การบิน รถไฟ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี น้ำมัน และอื่นๆ จัดส่งบุคลากรเข้ามาอบรม สำหรับงาน Certification รับรองงานตรวจสอบ มีใบอนุญาตในการให้ certified ตามมาตรฐานสากล
“กว่าที่ศูนย์ Testing and Training facilities จะผ่านการรับรองนั้น มีทั้งองค์กรและบริษัท ต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานเชื่อมและการตรวจสอบจากต่างประเทศมาตรวจสอบ หลักสูตร บุคลากรในการสอน อุปกรณ์การสอน ว่าได้มาตรฐานสากลหรือไม่” รศ. ดร.บวรโชค กล่าว
นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรในการอบรมและทดสอบที่เปิดให้เข้าอบรม ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติเช่น Welding Procedure Specification, Visual Inspection (Level I, II), Magnetic Particle Testing (Level II), Acoustic Emission (Level I,II), Liquid Penetrant Testing (Level I,II), Radiographic Testing (Level I,II), Radiographic Testing: Film Interpretation, Ultrasonic Testing(Level I, II), Eddy Current Testing (Level I, II) เป็นต้น
2.งานที่ปรึกษาและบริการ (CONSULTING & SERVICE) “ศูนย์ฯ เป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการใหญ่ๆ เช่น การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้มีสัญญาจ้างทางศูนย์ฯ เป็นที่ปรึกษาในการควบคุมงาน Rail Mounted Shore Side Gantry Crane with the maximum of 40-ton capacity ที่ท่าเรือคลองเตยแล้วถึง 8 คัน และ อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 2 คัน ซึ่งทางศูนย์ฯ จะต้องไปตรวจสอบตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การผลิต การตรวจสอบคุณภาพ การทดสอบการใช้งานที่โรงงานผู้ผลิตผลิตในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จนกระทั่งถึงการขนส่งและติดตั้ง ที่ท่าเรือคลองเตยเพื่อใช้งาน และบริษัทอื่น เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน เป็นต้น ส่วนงานบริการ (service) ก็จะเป็นการบริการ งานทดสอบ งานตรวจสอบ” รศ. ดร.บวรโชค กล่าว
3.งานวิจัย (RESEARCH) ซึ่งร่วมกับบริษัทใหญ่ๆ ตามโจทย์ที่บริษัทอยากให้ดำเนินการ และใช้งานวิจัยช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น การวิจัยการซ่อมบำรุงที่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หรืออุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า ซึ่งภาคอุตสาหกรรมอยากรู้ว่า เมื่อไหร่จะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ชิ้นนั้น ซึ่งเมื่อทำวิจัยเสร็จ โรงงานที่มีลักษณะเดียวกันก็สามารถนำงานวิจัยชิ้นนี้ไปปรับใช้ได้
“โจทย์วิจัยของศูนย์ KINGWELD มาจากอุตสาหกรรมทั้งสิ้น ไม่ได้ตั้งโจทย์ขึ้นมาเอง และมีแต่โจทย์ที่ท้าทาย มาให้ทางศูนย์ฯช่วยทำวิจัย” รศ. ดร.บวรโชค กล่าว
4.DT&NDT TESTING ศูนย์ฯ มีอุปกรณ์ด้านการทดสอบและตรวจสอบที่ทันสมัย ทั้งการทดสอบแบบทำลาย เช่นการทดสอบทางกลต่างๆ ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 17025 ส่วนทางด้านการทดสอบแบบไม่ทำลายนั้น ทางศูนย์มีเครื่องมือที่พร้อมให้บริการ เช่น การตรวจสอบด้วยคลื่นความถี่สูง การตรวจสอบด้วยกระแสไหลวน การตรวจสอบด้วยสารแทรกซึม การตรวจสอบด้วยอนุภาคผงแม่เหล็ก การตรวจสอบด้วยการพินิจ การตรวจสอบด้วยการถ่ายภาพรังสีทั้งแบบใช้ฟิล์มและแบบดิจิตอล การตรวจสอบด้วยอคูสติกอมิชชั่น (Acoustic Emission) เป็นต้น
ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการของศูนย์ KINGWELD ทันสมัยระดับต้นๆ ของประเทศ สามารถจัดหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านงานเชื่อม และบุคลากรด้านตรวจสอบงานเชื่อม KINGWELD ทำหน้าที่เป็น Authorized Center สามารถทดสอบคุณภาพและฝึกอบรมช่างเชื่อม ออกใบรับรองคุณภาพช่างเชื่อมตามมาตรฐานสากล และใบอนุญาตตามที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกำหนด รวมถึงการให้บริการวิชาการ โดยให้คำปรึกษาด้านงานเชื่อมกับบริษัทในภาคอุตสาหกรรม งานซ่อมบำรุง งานโครงสร้าง งานติดตั้ง รวมทั้งงานวิจัยเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในภายในโรงงาน
“ห้องปฏิบัติการทดสอบแบบไม่ทำลาย (Non-destructive Testing: NDT) ผมคิดว่าทางศูนย์ฯ มีห้องปฏิบัติการที่สมบูรณ์แบบและทันสมัยมาก” รศ. ดร.บวรโชค กล่าว
รศ. ดร.บวรโชค กล่าวว่า วิชาชีพงานเชื่อม แบ่งเป็น วิศวกรงานเชื่อม (Welding Engineer) ผู้ตรวจสอบงานเชื่อม (Welding Inspector) ครูช่างเชื่อม (Welding Instructor) และช่างเชื่อม (Welder) งานสาขาเชื่อมเป็นสาขาวิชาชีพที่ผู้ที่ทำงานในทุกระดับต้องมีใบอนุญาตในการทำงานเชื่อม ซึ่งงานเชื่อมเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งปลูกสร้างที่อยู่รอบตัวเกือบทั้งหมด เช่น งานโครงสร้างเหล็ก โครงสร้างอาคารสูง โครงสร้างสะพาน รวมถึงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิ อุตสาหกรรมน้ำมัน แก๊สปิโตรเคมี เหล่านี้ล้วนจำเป็นที่จะต้องมีคุณภาพงานเชื่อมที่สูงมาก เพราะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของชีวิตของผู้คนจำนวนมาก
รศ. ดร.บวรโชค กล่าวว่า แต่ประเทศไทยยังขาดแคลนช่างเชื่อมในสายงานเกือบทุกระดับ เพราะฉะนั้นนอกจากการผลิตบุคลากรในสายงานด้านนี้แล้ว ช่างเชื่อมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ต้องมีการ Reskill (เรียนรู้หรือฝึกฝนในทักษะใหม่) Upskill (การเสริมทักษะในงานเดิม) และไม่ใช่แค่ Reskill แต่ควร Reskill โดยสอบตามมาตรฐานและคนที่จะสอบต้องได้รับการรับรอง (Certified) ไม่ใช่บริษัทไหนหรือมหาวิทยาลัยไหน จะตรวจสอบจะอบรมก็ทำได้ ต้องผ่านมาตรฐาน
“ผมว่าประเทศไทย ขาดช่างเชื่อมที่มีฝีมือ และช่างเชื่อมที่ผ่านการรับรองเกือบทุกระดับ ยิ่งอุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมระบบราง ยิ่งมีช่างเชื่อมที่ผ่านมาตรฐานน้อยมาก” รศ. ดร.บวรโชค กล่าว
รศ. ดร.บวรโชค กล่าวปิดท้ายว่า ศูนย์ KINGWELD มีบุคลากรพร้อมที่จะทำหน้าที่เพื่อสนับสนุนให้บุคลากรงานเชื่อม มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล และเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 10 S-Curve ซึ่งทุกๆ ปีจะมีบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งการอุตสาหกรรมการบิน โรงไฟฟ้า ระบบราง และปิโตรเคมี มาอบรมที่ศูนย์ฯ