“อีไอซี”เผยมุมมองกฎหมายลงทุนใหม่ในเมียนมา
เปิดมุมมอง อีไอซี ต่อกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่เมียนมา ระบุเอื้อประโยชน์ในหลายด้านมากขึ้น แต่ยังมีบางข้อควรปรับปรุง แนะนักลงทุนตระหนักถึงข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน และความล่าช้า
ปีที่ผ่านมาการลงทุนในเมียนมาค่อนข้างแผ่ว ส่งผลให้เศรษฐกิจของเมียนมาชะลอตัวลงตามไปด้วย จากเดิมที่เคยขยายตัวต่อเนื่องในอัตรา 8% ต่อปี แต่ปี 2559 ลดลงเหลือ 6.3% นั่นเป็นเพราะนักลงทุนยังคงรีรอกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ของเมียนมา ซึ่งกฎการลงทุนดังกล่าวได้ออกมา และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้มีมุมมอง โดยเห็นว่ากฎหมายการลงทุนฉบับใหม่นี้เอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนในหลายด้าน แต่ยังมีบางข้อที่ควรปรับปรุง นอกจากนี้ นักลงทุนชาวไทยและต่างชาติต้องตระหนักถึงข้อจำกัดบางประการในการทำธุรกิจในเมียนมาด้วย
ทั้งนี้ กฎหมายฉบับใหม่นี้ ได้ลดขั้นตอนในการขออนุญาตการลงทุน ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและเวลา พร้อมช่วยลดการสูญเสียรายได้ของรัฐบาล และทำให้สิทธิประโยชน์จำกัดอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ได้จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่นขึ้นมา เพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ ลดการผูกขาดอำนาจ และแก้ปัญหาความล่าช้าในการอนุมัติใบอนุญาตจากคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุนแห่งเมียนมา (MIC)
ขณะเดียวกันยังมีการกำหนดประเภทของอุตสาหกรรมและพื้นที่เพื่อการพัฒนา สร้างความชัดเจนและความมั่นใจให้กับนักธุรกิจ และเป็นเงื่อนไขในการขอรับสิทธิประโยชน์การลงทุน
นอกจากนี้ ยังได้ยกเลิกการจ้างแรงงานชาวเมียนมาตามอัตราที่กำหนดไว้เดิม และอนุญาตให้จ้างแรงงานสัญญาใดก็ได้ตามความเหมาะสมในตำแหน่งผู้จัดการอาวุโส ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค หรือที่ปรึกษาการลงทุน แต่ยังคงต้องจ้างชาวเมียนมาในตำแหน่งแรงงานไร้ฝีมือ พร้อมทั้งได้ยกเลิกการกำหนดอัตราเงินเดือนที่เท่ากันระหว่างลูกจ้างชาวเมียนมาและชาวต่างชาติในตำแหน่งเดียวกัน ซึ่งจะดึงดูดแรงงานที่มีความสามารถทั้งชาวเมียนมาและชาวต่างชาติเข้ามาทำงาน จะส่งผลให้ธุรกิจดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ อีไอซี มองว่าการยกเว้นภาษีภายใต้เงื่อนไขการลงทุนในอุสาหกรรมเป้าหมายและพื้นที่เพื่อการพัฒนา ทำให้นักลงทุนสามารถรับการยกเว้นภาษีสูงสุดถึง 7 ปี และทำให้การลงทุนไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ รวมทั้งลดการสูญเสียรายได้ภาษีของรัฐ จากการลดหย่อนภาษีรูปแบบเก่า อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดบางข้อควรได้รับการพิจารณาแก้ไขปรับปรุง เช่น การลงทุนในพื้นที่มากกว่า 1 โซน ที่ไม่ได้ถูกพิจารณาให้รับสิทธิประโยชน์ตามสัดส่วนการลงทุน แต่กำหนดสิทธิประโยชน์ที่ให้เป็นไปตามการลงทุนในพื้นที่ที่มีการพัฒนามากกว่า ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์น้อยกว่า จึงอาจทำให้การกระจายการลงทุนไปยังพื้นที่ด้อยพัฒนาไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
นอกจากนี้ การให้สิทธิการใช้ที่ดินสำหรับชาวต่างชาติยังคงเดิมที่ 50 ปี และสามารถต่อเวลาเช่าเพิ่มเติมได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี ซึ่งการต่อสัญญาเช่าเพิ่มเติมนั้น อาจไม่ดึงดูดการลงทุนเพิ่มมากนัก เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่ไม่สามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาเพียง 10 ปี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายการลงทุนเพื่อให้มีความชัดเจนและเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนมากขั้น แต่ความล่าช้าในการดำเนินงานของหน่วยงานราชการของเมียนมา และการขาดโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกยังคงเป็นปัญหาที่นักลงทุนชาวต่างชาติต่างต้องเผชิญ นอกจากนี้ เมียนมายังมีการกีดกันการค้าสำหรับนักลงทุนต่างชาติในธุรกิจธนาคารและธุรกิจเทรดดิ้ง ซึ่งนักลงทุนต่างชาติจะต้องศึกษาและวางแผนอย่างรอบคอบ เพราะการออกใบอนุญาตให้แก่บริษัทจะพิจารณาเป็นรายกรณี และจำกัดหมวดสินค้าและบริการไม่กี่รายการเท่านั้น.