เอกชนพอใจหลังคสช.ยืดใช้พ.ร.ก.ต่างด้าว180วัน
คสช.งัดใช้ ม.44 ยืดใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ใน 4 มาตรา ออกไปอีก 180 วัน ด้านภาคเอกชนขานรับพอใจ มองสัญญาณดี
หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่าง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันทีเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างแก่ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จึงได้ยื่นขอเสนอต่อ สนช. และขอให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไปก่อน ล่าสุด คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้ ม.44 ชะลอการบังคับใช้ 4 มาตรา ที่เกี่ยวข้องกับบทลงโทษผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าว ออกไปอีก 6 เดือน หรือ 180 วัน
ทั้งนี้ 4 มาตราที่ถูกเลื่อนการบังคับใช้ประกอบด้วย มาตรา 101 ว่าด้วยการเอาผิดลูกจ้าง, มาตรา 102 ว่าด้วยการเอาผิดนายจ้างที่รับคนมาทำงานในอาชีพพิเศษบางอย่างโดยไม่ได้รับอนุญาต, มาตรา 122 ว่าด้วยการรับคนที่ไม่มีใบอนุญาตมาทำงาน และ มาตรา 119 ว่าด้วยการทำงานโดยไม่มีหนังสือแจ้งนายทะเบียนทราบ
ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธาน กกร. กล่าวภายหลังจากการประชุม กกร. ว่าการที่ คสช.ขยายเวลาออกไปอีก 180 วัน ถือเป็นมาตรการที่น่าพอใจ ซึ่งจากนี้ไปคงต้องไปลงในรายละเอียดต่อไปว่าจะดำเนินการได้ทันหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนคน และขั้นตอนต่างๆ ในการทำงาน
จากข้อเสนอความคิดเห็นของ กกร.4 ข้อที่เสนอไปก่อนหน้านั้น ประกอบด้วย 1.เปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั่วประเทศอีกครั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาสู่ระบบการทำงาน 2.ควรให้มีผู้แทนจากภาคเอกชน เข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามได้ตามกฎหมายโดยไม่กระทบกับแรงงานต่างด้าว 3.ควรให้กำหนดกฎหมายอนุบัญญัติเฉพาะในการจ่ายค่าชดเชยแรงงานต่างด้าว ที่มาทำงานกับนายจ้างต่างประเทศ และ 4.ควรมีการประชาสัมพันธ์ พ.ร.ก.ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน
“จากข้อเสนอของกกร. 4 ข้อนั้น ถือว่าได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วจากภาครัฐ โดยกกร. เข้าใจดีถึงความต้องการแก้ไขปัญหา แต่พบว่ายังมีประเด็นในบางเรื่องที่ยังต้องพิจารณาแก้ไขกันต่อไป”