“ธนารักษ์”ยันสร้างหอชมเมืองกรุงเทพฯ
ธนารักษ์ ไฟเขียวสร้าง “หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” เสร็จภายใน 3 ปี หวังเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละ 4.6 หมื่นล้านบาท พร้อมเชื่อมทางเข้า-ออกกับไอคอนสยาม ไม่หวั่นข้อครหา
เพราะราชพัสดุถูกปล่อยร้างมานานหลายปีไม่มีเอกชนรายใดสนใจ ขณะที่คนใน “ชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ” สนับสนุนโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียติในหลวงรัชกาลที่ 9
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2560 นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ ได้สื่อมวลชนกว่า 100 คน ซึ่งมีทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุและเว็บไซต์ ลงพื้นที่ตรวจสถานที่ก่อสร้าง “หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขกท.3275 เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในซอยเจริญนคร ความสูงทั้งหมด 459 เมตร บนเนื้อที่ 4.2 ไร่ ซึ่งดำเนินการก่อสร้างโดยมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เงินลงทุน 4,621 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในระหว่างสำรวจพื้นที่ อธิบดีกรมธนารักษ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ราชพัสดุแปลงนี้ เป็นที่ดินตาบอด แต่ด้านหน้าอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นอู่ซ่อมบำรุงเรือของตำรวจน้ำเก่าปัจจุบันได้ย้ายออกไปประ มาณ 4-5 ปีแล้ว โดยสามารถเดินเท้าเข้าออกไปจากซอยเจริญนคร 7 ได้ ขณะที่ด้านข้างของที่ดินแปลงดังกล่าว ตั้งอยู่ติดกับโครงการไอคอนสยาม (ICONSIAM) ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
สำหรับที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าว ราคาประมาณอยู่ที่ 178 ล้านบาท ขณะที่ราคาตลาดหากมีการซื้อขายมูลค่าประมาณ 198 ล้านบาท โดยกรมธนารักษ์จะคิดอัตราค่าเช่าที่ราชพัสดุจากฐานราคาตลาด 198 ล้านบาท เพราะใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นการคิดอัตราค่าเช่าสูงที่สุด โดยประเมินว่า โครงการหอชมเมืองฯ ต้องจ่ายค่าเช่าที่ราชพัสดุ 400,000 บาทต่อปี โดยปีแรกต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่ต้องจ่ายค่าแรกเข้าเป็นค่าย้ายสถานีตำรวจน้ำ และค่าดำเนินการต่าง ๆ รวมเป็นเงิน 60 ล้านบาท โดยกรมธนารักษ์จะปรับราคาเพิ่มขึ้น 15% ทุก 5 ปี และเมื่อหมดสัญญาเช่า 30 ปี กรรมสิทธิ์หอชมเมืองกรุงเทพฯ ยังเป็นของรัฐบาล
“ที่ราชพัสดุแปลงนี้ เคยเป็นอู่ซ่อมบำรุงเรือของตำรวจน้ำ ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่ราชพัสดุแห่งใหม่จังหวัดสมุทรปราการ จึงเป็นสถานที่รกร้างว่างเปล่าประมาณ 4-5 ปี เมื่อเป็นที่ดินตาบอดเข้าออกคับแคบ จึงไม่มีเอกชนเสนอตัวขอเข้ามาพัฒนาประโยชน์ ซึ่งต่อในปี2558 รัฐบาล มีนโยบายจัดทำโครงการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับประชาชนคนไทย ประกอบกับมีภาคเอกชน 50 องค์กร มีความประสงค์ที่จะทำโครงการ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายกรมธนารักษ์ โดยรวมตัวกันจัดตั้งเป็นมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพ มหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดสร้างหอชมเมือง เพื่อเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการรวมใจของคนไทยทั้งประเทศ มูลค่าโครงการ 4,620 ล้านบาท”
นายพชร กล่าวว่า หลังจากจากนั้น เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2559 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้โครงการนี้เป็นโครงการตามนโยบาย รัฐบาล และวันที่ 25 ม.ค. และวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) เห็น ชอบรูปแบบโครงการและให้นำเสนอ ครม. ยกเว้นให้โครงการสามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชน โดยไม่ต้องประมูล จนกระทั่งเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ครม. ได้มีมติตามคณะกรรมการพีพีพีเสนอ ที่สำคัญเงินก่อสร้างเป็นของภาค เอกชนทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปี
สำหรับการสร้างหอชมเมืองกรุงเทพฯ เกิดจากนโยบายประชารัฐร่วมกับภาคเอกชนในการพัฒนาฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยา เหมือนกับหลายประเทศทั่วโลกที่มีหอชมเมือง และยังสร้างรายได้ให้กับชุมชน เนื่องจากการหอชมเมืองจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ มีร้านค้า ร้านอาหารเกิดขึ้นมากมาย โดยคาดว่า จะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 46,857 ล้านบาทต่อปี แม้ว่า ผลตอบแทนตลอดระยะเวลาการเช่าที่ราชพัสดุ 30 ปี จะขาดทุน 769 ล้านบาทต่อปี แต่เพื่อการประเทศและการสร้างจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ก็เห็นว่า สมควรที่จะดำเนินการโครงการนี้
ด้านนางสาวสมสุข สมทรง ประธานชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ กล่าวว่า กลุ่มชาวบ้านเห็นด้วยกับแนวทางก่อสร้าง สำหรับการสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียติในหลวงรัชกาลที่ 9 และเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพฯ เพราะเห็นว่ากรุงเทพฯ ยังไม่มีนส่วนชุมชนสุวรรณภูมินั้น ตั้งอยู่มานานแล้ว โดยผู้ก่อสร้างควรดูแลผลกระทบการก่อสร้างกับชุมชน และหวังว่าจะช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนในการพัฒนาร้านค้า ร้านอาหาร รองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเยี่ยมชมหอชมเมืองฯ ในอนาคต.