ปรับโฉม5,000โชห่วยเพิ่มขีดแข่งขัน
ตั้งเป้ายกระดับโชวห่วย 5,000 ราย สู่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ มุ่งปรับภาพลักษณ์ และระบบบริหารจัดการ ผ่านโครงการ “พี่เลี้ยงโชห่วย ช่วยคนตัวเล็ก” เพื่อเพิ่มขีดแข่งขันกับรายใหญ่ ด้าน นายก ส.ค้าปลีก-ส่งไทย เชื่อมั่นทำได้ หลังโมเดิร์นเทรดข้ามชาติถอนตัวกลับเกือบหมด
ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกรายย่อยแบบดั้งเดิมของไทย(โชห่วย) ต่างต้องปรับตัวต่อเนื่อง เพื่อความอยู่รอดภายใต้สถานการณ์การรุกคืบเข้ามาของห้างค้าปลีกข้ามชาติ แต่ก็มีจำนวนมากที่สู้ไม่ได้ และต้องปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ประกอบการข้ามชาติเหล่านี้ได้ถอนตัวออกจากไทยไปเกือบทั้งหมด ทำให้การแข่งขันในปัจจุบันเป็นการต่อสู้กันระหว่างผู้ประกอบการายใหญ่ และรายย่อย
อย่างไรก็ตาม นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์การแข่งขันในปัจจุบัน เชื่อว่าโชห่วยแบบดั้งเดิมของไทยสามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้ แต่ต้องปรับตัว ปรับระบบให้มีความทันสมัย และทันกับความต้องการของผู้บริโภค
“ขณะนี้โชห่วยไทยในลักษณะที่มีร้านค้าแน่นอนมีมากกว่า 4 แสนราย หากรวมรายเล็กรายน้อย รวมทั้งรถเคลื่อนที่เชื่อว่าจะมีเป็นล้านราย หากสามารถเข้ามาช่วยพัฒนาให้ผู้ประกอบการเหล่านี้แข็งแรงได้ ก็จะเป็นการสร้างรากฐานเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นด้วย โดยร้านค้าเหล่านี้ จะช่องทางจำหน่ายสินค้าโอทอป สินค้าท่องถิ่น สินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์ชุมชนได้อีกทางหนึ่ง”
ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสมาคมการค้าปลีก-ส่งไทย มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และธุรกิจค้าส่งปลีกท้องถิ่น เปิดตัวโครงการ “พี่เลี้ยงโชห่วย ช่วยคนตัวเล็ก” โดยให้ร้านค้าส่งต้นแบบที่ผ่านการส่งเสริมและพัฒนามาแล้วกว่า 132 ร้านค้าทั่วประเทศให้เป็นพี่เลี้ยง ในการพัฒนาร้านค้ารายย่อยต่อไปด้วยการปรับภาพลักษณ์ ปรับระบบการบริหารจัดการให้มีความคล่องตัว ให้ความรู้ในการสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายพัฒนาโชวห่วย 5,000 แห่งทั่วประเทศ
นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ร้านค้าทั้งหมดนี้จะเป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้าธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งเป็นสินค้าราคาต่ำกว่าท้องตลาดจากผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการร้านค้าและลดค่าครองชีพให้กับประชาชน และโครงการนี้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในแต่ละชุมชนให้เติบโตขึ้น รวมถึงทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้นตามไปด้วย