“สมคิด” ดันรัฐวิสาหกิจพัฒนาสู่ 4.0
“สมคิด” เชื่อมโยงรัฐวิสาหกิจเพื่อพัฒนาประเทศไทยมุ่ง 4.0 หลัง สคร.จัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจรายสาขาเสร็จแล้ว ย้ำต้องมองอนาคต ชูเด่นอีอีซีอนาคตประเทศไทย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนาแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจรายสาขา จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ว่า
“รัฐวิสาหกิจทุกแห่งต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของตนเองให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมขอให้รัฐวิสาห กิจทุกแห่งปรับการทำงาน โดยมีเป้าหมาย 5 ประการ” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนาแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจรายสาขา จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2560 และกล่าวชี้แจงว่า
1.ส่งเสริมให้เศรษฐกิจภายในประเทศเติบโต ลดการพึ่งพาการเติบโตจากภายนอก เน้นการสร้างกิจกรรมภายในประเทศทุกด้าน เพื่อให้การเกิดการค้าขาย การสื่อสาร ทำให้เศรษฐกิจในประเทศเกิดการหมุนเวียน เกิดการจ้างงาน เช่น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซ์ซิมแบงก์ต้องไปหาวิธีการที่จะช่วยให้มีการส่งออกไปยังกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม) ได้มากขึ้น ขณะที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ลงไปถึงชุมชน ล่าสุดตนเองได้หารือกับ รมว.คลัง เกี่ยวกับการจัดหาพื้นที่ในทุกหน่วยงานเพื่อจัดให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนเข้าไปค้าขาย
2.ต้องเปลี่ยนจากการสร้างธุรกิจจากต้นทุนมาเป็นการสร้างมูลค่า โดยนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยพัฒนา เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนสดย่อม หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ต้องหามาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการ โดยอาจทำงานร่วมกับธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.)
3.การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องบริหารงบประมาณที่จะนำมาให้ลงทุนจาก 4 แหล่งที่มา คือ งบประจำ, เงินกู้, การร่วมทุนกับเอกชน และกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ โดยต้องจัดสรรให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะตามมา
4.การเดินหน้าโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งนักลงทุนจากยุโรปและสหรัฐฯ ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านพลังงาน เส้นทางคมนาคมขนส่ง และวัตถุดิบ ซึ่งหากเตรียมความพร้อมได้ภายในปีนี้จะยิ่งเป็นผลดี 5.การพัฒนาด้านดิจิทัลจะเป็นพื้นฐานการลงทุนด้านอื่นๆทั้งหมด ซึ่งขอให้ บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม เร่งดำเนินการโครงการอินเตอร์หมู่บ้านให้เป็นตามเป้าหมายคือ 2.4 หมื่นหมู่บ้านในปีนี้ และอีก 2 หมื่นหมู่บ้านในปีหน้า ซึ่งจะช่วยให้เกิดการค้าในรูปแบบ e-Commerce ที่แพร่หลายมากขึ้น
ในส่วนของอุตสาหกรรมเป้าหมายได้กำชับให้ บมจ.ปตท. (PTT) เข้าไปให้การสนับสนุน ร่วมถึงธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่ไม่ใช่แค่การปล่อยสินเชื่อ แต่ควรเร่งพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) ให้สามารถแข่งขันกับธนาคารเอกชนได้
นอกจากนี้ ยังต้องการเร่งพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการก้าวสู่ 4.0 และขอให้ทุกองค์กรยึดหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด โดยได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ไปดำเนินการจัดหาเครื่องมือวัดผลการทำงานของทุกรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การทำงานเป็นไปตามเป้าหมาย
นายสมคิด กล่าวถึงผลงานในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อพิจารณาจากงบลงทุนแล้ว เมื่อปี 57 งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นจากปี56 เพียง 1% แต่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 60 งบลงทุนขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 17% โดยล่าสุดรัฐวิสาหกิจมีสินทรัพย์รวมกันถึง 14 ล้านล้านบาท มีรายได้ต่อปี 5 ล้านล้านบาท รายจ่ายต่อปี 4.7 ล้านล้านบาท และมีรายได้เข้าคลังปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท
“รัฐวิสาหกิจจึงเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้โต 3.3% ดังนั้นจึงอยากให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งร่วมมือกับรัฐบาลผลักดันการพัฒนาประเทศ”
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นของรัฐวิสาหกิจได้ปรับเปลี่ยนบทบาทของกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลัง ให้ Active ขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ถือหุ้นเชิงรุก (Active Shareholder) มากขึ้น รวมทั้งการบูรณาการการทำงานให้รัฐวิสาหกิจทำงานร่วมกันผ่านการสัมมนาผู้บริหารระดับสูงรัฐวิสาหกิจ (SOE CEO Forum) เพื่อรวมพลังรัฐวิสาหกิจ ทำให้รัฐวิสาหกิจเป็นหุ้นส่วนเชิงรุก (Active Partner) ของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนนโยบาย นอกจากนี้รัฐวิสาหกิจจะต้องปรับการดำเนินงานของตนเองให้สอดคล้องกับบทบาท เน้นประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมถึงส่งเสริมให้เกิดระบบธรรมาภิบาลในองค์กร.