ครม.ผ่าน 4+1 มาตรการอุ้มธุรกิจท่องเที่ยว-การบิน
ครม.ไฟเขียว มาตรการการเงินและภาษี 4 ชุด อุ้มผู้ประกอบการท่องเที่ยว ทั้งเพิ่มวงเงินกู้และระยะเวลารับคำขอสินเชื่อ Soft loanของแบงก์ออมสิน ขยายคุณสมบัติเข้าเงื่อนไขค้ำประกันเงินกู้ของ บสย. รวมถึงขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อ Extra cash ของ SME D Bank พ่วงปรับลดภาษีน้ำมันเครื่องบินช่วยโลว์คอสต์แอร์ไลน์ เหลือลิตรละ 0.20 บาท เริ่มหลังเที่ยงคืน 3 พ.ย.นี้ สิ้นสุด 30 เม.ย.64
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า จากการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มบรรเทาลง รวมไปถึงการดำเนินมาตรการรักษาระดับการบริโภคในประเทศเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ และแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจหลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ ส่งผลให้ภาคธุรกิจบางสาขาเริ่มส่งสัญญาณกลับมาฟื้นตัวได้ แต่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวทั้งที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีลูกค้าหลักเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงประสบปัญหา
ดังนั้น เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้มีมติเห็นชอบการแก้ไขปัญหาข้อติดขัดและขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างทั่วถึง และมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1) ปรับเพิ่มวงเงินสินเชื่อต่อราย Soft loan ท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่องของธนาคารออมสิน จากเดิมไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย เป็นไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย โดยธนาคารออมสินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงินในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อต่อให้ผู้ประกอบการ ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี และขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2564
2) ขยายขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้โครงการ PGS Soft Loan พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมมาตรการสินเชื่อ Soft loan ท่องเที่ยวตาม 1) แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตามมาตรการดังกล่าว จากเดิมที่ บสย. ค้ำประกันให้เฉพาะกับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) ทั้งนี้ บสย. คิดค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 8 ปี โดยเริ่มค้ำประกันในต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการแต่ละรายได้รับสินเชื่อ
3) ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อ Soft loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564 โดยธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply Chain วงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี
4) ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อ Extra cash วงเงิน 10,000 ล้านบาท ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2564 โดย ธนาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEsขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่นๆ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการสายการบิน และส่งผลให้สายการบินสามารถปรับลดค่าโดยสาร ทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางลดลงและตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น ครม.มีมติเห็นชอบการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นจาก 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร โดยมีผลหลังเวลา 24.00 น. ของวันที่ 3 พ.ย. 2563 – 30 เม.ย.2564
“กระทรวงการคลังมั่นใจว่ามาตรการด้านการเงิน และมาตรการด้านภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยวจะทำให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นไปอย่างทั่วถึงและเพียงพอ และจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตช่วงนี้ไปได้” รมว.คลัง ย้ำและว่า
กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ สำหรับมาตรการด้านการเงินผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ด้าน นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษา ด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวยังประเทศไทยลดลงกว่าร้อยละ 80 ผู้ประกอบธุรกิจสายการบินต้องพึ่งพากำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลักครม.จึงมีมติปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นจาก 4.726 บาท/ลิตร ลงเหลือ 0.20 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.- 30 ก.ย.2563 ซึ่งทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการสายการบินลดลงและสามารถปรับลด ค่าโดยสาร เพื่อให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนผู้ใช้สายการบินลดลง
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันและคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อไปอีกระยะหนึ่ง ครม.จึงมีมติเห็นชอบมาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นลง จากเดิมอัตรา 4.726 บาท/ลิตร เป็น 0.20 บาท/ลิตร เพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการสายการบิน เพิ่มขีดความสามารถด้านการประกอบการให้สามารถนำนักท่องเที่ยวเดินทางสู่ต่างจังหวัดได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่งด้วย.