ผู้ส่งออกเกินครึ่งเมินป้องกันความเสี่ยง
แบงก์ชาติเผยผู้ส่งออกส่วนใหญ่ไม่ยอมป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ระบุเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่อง แนะเอสเอ็มอี ป้องกันความเสี่ยงก่อนเจ็บตัว
ข้อมูลจากการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) พบว่า ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีไม่ได้บริหารความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนไว้ล่วงหน้า และอีกจำนวนไม่น้อยที่รอจังหวะในการทำธุรกรรม
ทั้งนี้ ผู้ส่งออกซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก มีเพียง 9% ที่ทำสัญญาล่วงหน้าอยู่บ่อยครั้ง และอีก 74% ไม่ทำสัญญาล่วงหน้าเลย ส่วนธุรกิจขนาดกลางมี 18% ทำสัญญาล่วงหน้าบ่อยครั้ง และไม่ทำเลยมี 62% และธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทำสัญญาล่วงหน้าบ่อยครั้งมี 26% และอีก 55% ไม่ทำสัญญาล่วงหน้าเลย สัดส่วนที่เหลือเป็นการทำบางครั้ง แต่ไม่บ่อยนัก
ดร.วชิรา อารมณ์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “ค่าเงินบาทแข็ง เอสเอ็มอีแก้ได้อย่างไร” จัดโดยกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชน ว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น เกิดจากปัจจัยภายนอกโดยเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง ส่วนปัจจัยภายในเกิดจากดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยที่เป็นบวกต่อเนื่อง ปีก่อนดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเพิ่มขึ้นถึง 11% ของจีดีพี เนื่องจากราคาน้ำมันหดตัว และการนำเข้าสินค้าทุนลดลง ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวขยายตัวขึ้น
ส่วนแนวโน้มหลังจากนี้ มองว่าเงินบาทจะยังคงผันผวน จากนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น นโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ราคาน้ำมัน และปัญหาในตะวันออกกลาง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
“ เอสเอ็มอีควรต้องดูแลตัวเองก่อนด้วย โดยการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ที่สามารถทำได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือทางการเงิน เช่นซื้อสัญญาล่วงหน้า การใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการรับและชำระเงิน นอกจากนี้ ผู้ส่งออกยังสามารถเปิดบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ หรือ เอฟซีดี และการทำ Netting รายรับหรือรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศกับคู่ค้าเดียวกัน หรือคู่ค้าหลายราย ”
ดร.วชิรา กล่าวด้วยว่า เอสเอ็มอีไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะสามารถปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้ได้ก่อน โดยใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอย่างมีวินัยและสม่ำเสมอ