สคร.รื้อใหญ่ พ.ร.บ.ร่วมทุน
สคร. เสนอ คลังแก้ไข พ.ร.บ.ร่วมทุนอีกรอบเป็นครั้งที่ 2 หลังจากแก้ไข พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2535 มาเป็น ปี 2556 โดยในครั้งนี้ จะเพิ่มความรวดเร็วในการพิจารณาโครงการที่เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนต้องเข้า “PPP Fast Track” ทั้งหมด
“สคร.จะเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 หลังจากที่กระทรวงการคลังได้เคยแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวที่ออกมาเมื่อปีพ.ศ.2535 หรือ “พ.ร.บ.ร่วมลงทุนปี35” นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2560 พร้อมกับแถลงข่าวความสำเร็จในการผลักดัน 3 โครงการยักษ์เข้าสู่ PPP Fast Track
“สคร.จะเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยกำหนดให้การพิจารณาทุกโครงการการที่เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ Public Private Partnership: PPP ต้องเข้าสู่ PPP Fast Track ทั้งหมด” นายเอกนิติ กล่าวและกล่าวว่า
“กฎหมายปัจจุบันใช้ระยะเวลาพิจารณาโครงการนานถึง 25 เดือน แต่หากเป็นโครงการที่เข้าสู่กระบวน การพิจารณาของ PPP Fast Track ที่มี สคร.เข้าไปศึกษาโครงการตั้งแต่ต้น จะย่นระยะเวลาเหลือเพียง 9 เดือน ดังนั้น สคร.จึงมีความคิดว่า โครงการใดๆ ก็ตามหากเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ก็ควรจะเข้าสู่กระบวนการ PPP Fast Track ทั้งหมด โดยจะยกเลิกระบบเดิมที่มีความล่าช้า ซึ่ง สคร.จะเสนอให้ รมว.คลัง พิจารณาในเดือนก.ค.นี้ ก่อนที่จะส่งให้ ครม.พิจารณาต่อไป ”
นายเอกนิติ กล่าวว่า การปรับปรุง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนพ.ศ. 2556 เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่ต้องการส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่จะช่วยทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้เร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนดียิ่งขึ้น และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดให้มีการลงทุนจากความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานเฉลี่ยปีละ 47,000 ล้านบาท
สำหรับกระบวนการพิจารณาของกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือคณะกรรมการ PPP ที่ผ่านมา ได้เร่งรัดโครงการ PPP Fast Track เพื่อพัฒนาโครงการลงทุนโครง สร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยสามารถผลักดันโครงการรถไฟฟ้า 3 สายมูลค่าโครงการ 190,000 ล้านบาท ได้สำเร็จภาย ใน 9 เดือน ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ (โครง การรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย) มูลค่าโครงการ 83,877 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย– มีนบุรี (โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู) มูลค่าโครงการ 56,691 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง (โครงการรถไฟฟ้าสายเหลือง) มูลค่าโครงการ 54,644 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้า 3 สายได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนปีพ.ศ. 2556 เสร็จสิ้นแล้ว โดยโครง การรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายได้มีการลงนามในสัญญาแล้วเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2560 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและโครงการรถไฟฟ้าสายเหลืองจะมีการลงนามในสัญญาในวันที่ 16 มิ.ย.2560 นอกจากนี้ การพัฒนาโครง การ PPP ทั้ง 3 โครงการได้เร็วขึ้นจะทำให้การเดินทางของประชาชนมีความสะดวกสบาย ลดความแออัดของการจราจร และลดการสิ้นเปลืองพลังงานของประเทศ
นอกจากนี้ สคร.อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงคมนาคม เพื่อเตรียมเสนอคณะกรรมการ PPP ปลายเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาโครงการลงทุนใหม่เข้าสู่ระบบ PPP Fast Track ได้แก่โครงการสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงด้านใต้ จากช่วงเตาปูน-ถนนกาญจนาภิเษก รถไฟฟ้าสายสีส้ม และรถไฟฟ้าในต่างจังหวัดคือ ภูเก็ตและเชียงใหม่ มูลค่ารวมทั้งหมด 600,000 ล้านบาท และยังเตรียมเสนอโครงการ PPP Fast Track สำหรับการบริหารดูแลบำรุงรักษามอเตอร์ เวย์เส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา และเส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี รวมมูลค่าอีก 140,000 ล้านบาท
“ในปีนี้ มีการอนุมัติ PPP Fast Track ไปแล้ว 3 โครงการจากทั้งหมด 5 โครงการที่ สคร.เสนอไปยังคณะกรรม การPPP ตั้งแต่ตอนแล้ว โดยอีก 2 โครงการที่ยังไม่ได้อนุมัติคือ งบการบริหารและบำรุงมอเตอร์เวย์เส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมาและเส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี ซึ่งคาดว่า จะอนุมัติได้ทั้งหมดภายในปีนี้”
นางปานทิพย์ ศรีพิมล ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สคร. กล่าวว่า มาตรการ PPP Fast Track เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะขับเคลื่อนนโยบายการลงทุนของรัฐบาล โดยการบูรณาการความร่วมมือในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ในการทำงานในบางขั้นตอนให้คู่ขนานกันไป โดย สคร.ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ PPP ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในกำหนดรายการข้อมูลที่จำเป็นในการศึกษาและวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนให้ชัดเจน (Checklist) และบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ซึ่งได้ลดระยะเวลาการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 ที่จะใช้เวลาตั้งแต่เริ่มทำการศึกษาโครงการจนถึงการประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุน จากเวลาปกติประมาณ 25 เดือน ให้เหลือเพียง 9 เดือน
นอกจากนี้ จะได้นำบทเรียนต่างๆ รวมถึงกลไกสำคัญของมาตรการ PPP Fast Track มาใช้ในการปรับปรุง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 ด้วย ซึ่งปัจจุบันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เห็นชอบหลักการของการปรับปรุง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 แล้ว โดยมีหลักการสำคัญในการส่งเสริมโครงการร่วมลงทุนให้มากขึ้น มีขั้นตอนที่กระชับชัดเจน แต่ยังคงความโปร่งใส เปิดเผย และตรวจสอบได้ รวมทั้งยึดหลักวินัยการเงินการคลังเหมือนเดิม