“โรบินฮู้ด”เวทีนี้ไม่มีพี่เลี้ยง
ปรากฎการณ์ใหม่ของวงการธนาคารพาณิชย์ไทย ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา งานใหญ่ที่คนในวงการจับตาอย่างใกล้ชิด คงหนีไม่พ้นการเปิดตัว ฟู้ดเดลิเวอรี “โรบินฮู้ด”ของแบงก์ไทยพาณิชย์
ท่ามกลางกระแส Covid-19 ที่ยังคุกรุ่น และยังไม่เห็นจุดจบว่าจะเป็นเมื่อไร
การที่ธนาคารไทยพาณิชย์เปิดตัวโปรดักส์ใหม่ ท่ามกลางกระแสปัจจุบัน ทำให้เกิดข้อสงสัยในหลายประการ
โดยเฉพาะนักวางกลยุทธ์ระดับกูรูของประเทศ ที่มองว่า”โรบินฮู้ด”ไม่น่าจะประสบความสำเร็จอย่างง่ายดาย
เพราะในสนามเดลิเวอรี่ ปัจจุบันก็ยังแข่งกันขาดทุนหรือแม้บางรายจะไม่ขาดทุนแต่กำไรก็ไม่มาก แถมภาครัฐยังมีกฎกติกา มากมาย เช่น การแต่งกายของไรเดอร์ ที่ต้องเน้นความปลอดภัย ดูสะอาด
และล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการกำหนดให้“บริการซื้อขายและ/หรือบริการขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์” เป็นบัญชีสินค้าและบริการควบคุม ประจำปี 63 จากเดิมที่รัฐบาลควบคุมเฉพาะ“บริการขนส่งสำหรับธุรกิจออนไลน์”หลังมีการร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของเจ้าของแพลตฟอร์มบางรายที่ “เอาเปรียบ”ร้านค้า
หากดูผลการดำเนินงานในธรุกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ของรุ่นพี่ ที่แจ้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เช่น GRABพบว่าปีที่แล้วขาดทุน 1650.1 ล้านบาท foodpanda ปีที่แล้วขาดทุนถึง 1,264.5 ล้านบาท แล Gojekปีที่แล้วขาดทุน 1,137.3 ล้าน
แต่AEC10NEWS เห็นว่า การที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ใหญ่ติดอันดับTop 5 ของประเทศ ต้องออกมาเล่นในตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ เพื่อรักษาตำแหน่งผู้ให้บริการด้านอิเล็กทรอนิกส์ หลังจากที่ธนาคารกสิกรไทยออก Eat table ถือเป็นการตบหน้าฉากใหญ่ของวงการธนาคาร เพราะ Eat table เน้นแพลตฟอร์มในการให้บริการสั่งอาหารทั้งที่ทานในร้านและสั่งกลับบ้านรวมถึงการชำระเงิน
ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ทำให้โรบินฮู้ดเป็นเหมือนแมสเซ็นเจอร์ ในการรับและส่งเอกสาร เพื่อให้ถึงมือผู้รับ
โดยหยิบยกความได้เปรียบด้านสถาบันการเงินให้คืนเงินได้เร็ว จากเดิมที่ได้รับเงินช้า 3-5 วัน แต่ของไทยพาณิชย์ จ่ายเงินภายในเวลา 1 ชม. ซึ่งร้านค้า และไรเดอร์ Happy แน่นอน เพราะได้เงินเร็วกว่าเจ้าอื่น
แต่ที่Happy ไปกว่านั้น คือผู้บริโภคที่ไม่ต้องจ่ายค่า GP หรือค่าธรรมเนียมการใช้แพลตฟอร์มทางอ้อม เพราะการคิดค่าGPทำให้เพิ่มต้นทุนร้านค้าและบางแห่งต้องผลักภาระมาให้ลูกค้า โดยการปรับราคาสินค้าหรือบางรายก็คิดราคาที่แพงขึ้น
ร้านค้าได้เงินเร็วภายใน 1 ชม. และไม่ต้องจ่ายค่า GP ที่เป็นหนามยอดอกของผู้ค้ามาโดยตลอด
ประเด็นนี้ ยังเป็นสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์มองว่า Food Delivery เอาเปรียบประชาชน และเป็นตัวที่ทำกำไรเป็นกอบเป็นกำให้บริษัทเหล่านั้น ที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ เกือบทั้งหมด หรือจะมีที่เป็นของคนไทยก็เป็นแค่น้ำจิ้ม
จึงเป็นประเด็นที่ทำให้ผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ตัดสินใจก้าวกระโดดลงในสนามนี้ แม้ไม่มีความเชี่ยวชาญเลย
โดยหวังว่าจะได้กำเงินสดไว้ในมือเป็นอำนาจต่อรองเพื่อนำไปแสวงหากำไรจากดอกเบี้ย แม้ดอกเบี้ยจะต่ำติดดิน แต่การบริหารสภาพคล่องนับเป็นหัวใจของธนาคารและยังเป็นต้นทุนที่สูงอยู่เหมือนเดิม
ดังนั้นการเปิดตัวแกรนด์โอเพนนิ่งเมื่อวันที่ 26 ตค. 2563 ธนาคารก็เหมือนรู้ชะตากรรม จึงยอมรับการขาดทุน 450 บาทในช่วง3 ปีข้างหน้า เพื่อยึดหัวหาดของธุรกิจนี้และชิงความได้เปรียบ
ทั้งนี้การประกาศไม่เก็บค่าGP ถือเป็นหมัดเด็ดในการขยายร้านค้า และขยายไรเดอร์ให้กว้างขวางออกไป
ปัจจุบันแพลตฟอร์มโรบินฮู้ดมีร้านค้าแล้วกว่า16,000 ร้าน และไรเดอร์ 10,000 คน และตั้งเป้าสิ้นปีนี้จะมีร้านค้าร่วมโครงการ 30,000 ร้าน มีไรเดอร์ 15,000 คน
ซี่งเป็นการโชว์ศักยภาพของธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อโหมโรงให้ผู้บริโภคเรียกใช้ โรบินฮู้ด อย่างอุ่นหนาฝาครั่ง โดยหวังว่าค่าอาหารเมื่อเทียบกับคุณภาพและปริมาณ จะสมเหตุสมผล
“โรบินฮู้ด” ทำไมถึงต้องชื่อนี้ …….
มีเบื้องหลังมาจาก นาย”อาทิตย์ นันทวิทยา”ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ต้องการช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการร้านค้ารายเล็กๆ
โรบินฮู้ด ตามตำนานต้องนึกถึงชายหนุ่มที่ปรากฏตัวพร้อมคันธนูและออกปล้นคนรวยเพื่อเอาเงินมาแจกคนจน ดังนั้นนโยบายหนึ่งเดียวที่นายอาทิตย์ไม่ยอมให้ปรับเปลี่ยนในการทำแพลตฟอร์มนี้คือ ชื่อ”โรบินฮู้ด”