“บิ๊กตู่” มีดีอะไร พกความมั่นใจเกินร้อย ไม่ลาออก
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พกความมั่นใจเกินร้อย ย้ำหลายรอบแล้ว ไม่ลาออก อยู่ได้ สบายมาก
แม้การชุมนุมประท้วงขับไล่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระกระทรวงกลาโหม จะยกระดับขึ้นอีกขั้นหนึ่ง โดยมีการชุมนุมใหญ่แทบทุกวัน และมีคนเข้าร่วมชุมนุมหลายพันคนต่อครั้ง
แม้ฝ่ายนิติบัญญัติ โดยสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา จะยื่นมือมาร่วมหาทางออก ด้วยการเปิดอภิปรายร่วมกันของรัฐสภา โดยฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็น พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย ฯลฯ ต่างกดดันอย่างหนัก บีบให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก เปิดเพื่อทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสะดวก
กระนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังนิ่งเฉยต่อแรงกดดันเหล่านั้น และไม่มีทีทาแสดงอาการสะทกสะท้านตามแรงกดดัน และยังยืนยันหนักแน่นว่า ไม่ลาออก และจะอยู่เพื่อแก้ไขสถานการณ์การต่อไป
แน่นอนว่าสัญญาณเสียงแข็งของ พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมสร้างความไม่พอใจต่อผู้ชุมนุมอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเมินเฉยต่อการชุมนุมเท่านั้น แต่ “บิ๊กตู่” ยังส่งสัญญาณสนับสนุนม็อบเสื้อเหลือง ซึ่งอยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับม็อบเยาวชน ให้ออกมารวมตัวกันมากๆ โดยการออกมาของกลุ่มเสื้อเหลืองนี้ มีโอกาสสูงที่จะเกิดเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ชุมนุม 2 ฝ่าย
ในการอภิปรายร่วมกันของรัฐสภาระหว่างวันที่ 26-27 ต.ต.ที่ผ่านมา นอกจากจะไม่ช่วยให้สังคมมองเห็นทางออกของปัญหาการเมืองแล้ว การอภิปรายของ ส.ส.หลายคน ยังเหมือนผลักของปัญหาเข้าสู่ทางตันเสียมากกว่า
เช่น นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) อภิปรายโจมตีม็อบเยาวชนว่า ต้องการเปลี่ยนการปกครองของประเทศไทยสู่ระบอบสาธารณรัฐ ล้มสถาบันฯ มีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง จึงขอให้ผู้รักชาติ รักแผ่นดิน ออกมาใส่เสื้อเหลืองแสดงพลังกันทั่วประเทศ
เช่นเดียวกับ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) เสนอว่า หากประเทศเดินหน้าไปไม่ได้จริงๆ หนึ่งในทางเลือกของ พล.อ.ประยุทธ์ คือการรัฐประหาร แล้วเขียนรัฐธรรมนูญใหม่
ทั้งนี้ แม้จะฟังดูเข้าใจได้ว่าเป็นการประชดประชัน แต่อีกนัยหนึ่งแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายรัฐบาล ไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเท่าที่ควร
คำถามคือ เหตุใด “บิ๊กตู่” ถึงพกความมั่นอกมั่นใจเกินร้อย ว่าม็อบจะไม่สามารถโค่นล่มรัฐบาลได้
โดยเหตุผลในความมั่นใจของบิ๊กตู่ สามารถอธิบายได้เป็นข้อๆดังต่อไปนี้
1.รัฐบาลยังครองเสียงข้างมากอยู่ ปัจจุบันสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่ 488 คน รัฐบาล มี ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ 276 เสียง พรรคฝ่ายค้านมี 212 เสียง
2.ส.ว.หนุนหลัง โดยนอกจากจะครองเสียงข้างมากในสภาแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว.ที่เลือกโดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) อีก 250 คน โดย ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้มีอิทธิพลสูงในการตัดสินว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี
3.รัฐบาลและกองทัพ มีความเป็นเอกภาพ โดยการมีกองทัพหนุนหลังนั้น ทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีการรัฐประหาร และยังสามารถรับมือกับผู้ชุมนุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีจำเป็น
4.ม็อบเสื้อเหลืองออกมาสนับสนุนรัฐบาล ทั้งนี้ การออกมาของม็อบเสื้อเหลือง นอกจากนี้เพื่อปกป้องสถาบันฯแล้ว ยังสนับสนุนรัฐบาล โดยมีการก่อตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนคือ กลุ่มไทยภักดี ของ “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” ซึ่งตอนนี้มีความเคลื่อนไหวในหลายจังหวัด
อย่างไรก็ตาม การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดูเมินเฉยกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมนั้น ยิ่งจะนำมาซึ่งการยกระดับการชุมนุมขึ้นอีกขั้น
และเมื่อบวกกับม็อบเสื้อเหลืองเล่นเกมรุก เดินหน้าปลุกมวลชนทั่วประเทศ จึงมีโอกาสสูงที่จะเกิดการปะทะ นำมาซึ่งความสูญเสียของคนไทยด้วยกันเอง