เศรษฐกิจจีนโตจากค้าปลีกและลงทุน
เศรษฐกิจจีนเติบโตต่อเนื่องกันเป็นไตรมาสที่ 2 จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น
การค้าปลีกและผลผลิตโรงงานที่ฟื้นตัวดีดกลับขึ้นมาช่วยสร้างความแข็งแกร่งท่ามกลางการเติบโตด้านสินเชื่อและความแข็งแกร่งในตลาดอสังหาริมทรัพย์
ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 6.9% ในไตรมาสแรกเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว โดยตัวเลขคาดการณ์โดยเฉลี่ยในการสำรวจของบลูมเบิร์กอยู่ที่ 6.8% นับเป็นการเติบโตติดต่อกันครั้งแรกในรอบ 7 ปี
“ เป็นครั้งแรกในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ที่จีนเริ่มต้นปีด้วยตัวเลขจีดีพีที่แข็งแกร่ง ต้องขอบคุณการลงทุนและอสังหาริมทรัพย์ที่แข็งแกร่ง ที่ทำให้เศรษฐกิจไปได้ดี” เรย์มอนด์ เหยิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ในจีนแผ่นดินใหญ่ประจำ Australia & New Zealand Banking Group Ltd. ในฮ่องกงกล่าว
“ การเติบโตในไตรมาสแรกได้แรงหนุนสำคัญจากยอดขายอสังหาริมทรัพย์และการลงทุน ข้อมูลที่แข็งแรงจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นมากขึ้นเพื่อคงจุดยืนที่เข้มงวด” แลร์รี หู หัวหน้านักเศรษศาสตร์ที่ Macquarie Securities Ltd. ประจำฮ่องกงให้ความเห็น
ตลาดแรงงานก็ปรับตัวดีขึ้นด้วย โดยตัวเลขว่างงานในเดือนมี.ค. ลดลงจากเดือนก.พ. ขณะที่ระดับตัวเลขว่างงานในเมืองใหญ่ต่ำกว่า 5% ในช่วงสิ้นเดือนมี.ค. นอกจากนี้ จีนยังสามารถสร้างงานใหม่ได้มากถึง 3.34 ล้านงานในไตรมาสแรกนี้
โฆษกของสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานในกรุงปักกิ่งว่า การบริโภคมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 77.2% ในไตรมาสแรก โดยในปีที่แล้ว การบริโภคมีส่วนหนุนการเติบโต 64.6%
ข้อมูลอื่นที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 เม.ย.คือ
จีนซึ่งผลิตเหล็กเป็นปริมาณครึ่งหนึ่งของโลก สร้างสถิติด้วยปริมาณการผลิตในเดือนมี.ค.จากการขยายตัวของการผลิตเหล็กกล้าดิบถึง 1.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ปริมาณการผลิตถ่านหินดีดกลับขึ้นมาในเดือนมี.ค.หลังจากรัฐบาลกล่าวว่า ไม่ได้ตั้งใจที่จะเข้มงวดในปีนี้ ตราบใดที่ราคายังคงเป็นที่ยอมรับได้
การผลิตน้ำมันยังคงหยุดนิ่งในไตรมาสแรก โดยมีปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 3.91 ล้านบาร์เรลต่อวัน
การลงทุนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 9.1% จากไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับ 8.9% ใน 2 เดือนแรกของปี และ 6.9% ในปี 2559 โดยนักพัฒนามองว่าปี 2560 นี้เป็นปีที่ท้าทายมากขึ้น โดยประมาณ 12 เมืองมีกฎข้อบังคับที่เข้มงวดขึ้นในการซื้อเพื่อควบคุมความบ้าคลั่งของการเก็งกำไร
“ การเติบโตยังคงแข็งแกร่งในภาคที่อยู่อาศัย การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ฟื้นตัว และดีมานด์นอกประเทศที่ดีขึ้น” โรบิน ชิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนที่ Morgan Stanley ในฮ่องกงกล่าว.