อนุทิน เตรียม ชง ศบค.ลดกักตัวเหลือ 10 วัน
เผย คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบนโยบายกักกันโรคระดับชาติ 3 ด้าน มีระบบการกักกันโรคและสถานที่กักกันผู้สัมผัสโรคหรือพาหะ กลไกการบริหารจัดการเชื่อมโยงการทำงานระดับชาติและจังหวัด และมีระบบการบริหารจัดการข้อมูลแบบบูรณาการ
(29 ต.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2563 ว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พบในขณะนี้ส่วนใหญ่เดินทางมาจากต่างประเทศ แม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อภายในประเทศบ้าง ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่จากประสบการณ์การทำงานตั้งแต่ต้นปี ทำให้เราสามารถควบคุมโรคได้ดี ตั้งแต่การตรวจคัดกรองอย่างละเอียด ทำให้ค้นพบเร็ว ควบคุมโรคได้ดี ทีมงานสาธารณสุขมีความเข้มแข็ง ค้นหาเชิงรุกและตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่อย่างครอบคลุม สามารถป้องกันควบคุมไม่ให้มีการระบาดในวงกว้าง ภาพรวมในเวลานี้ ประเทศไทยมีศักยภาพในการต่อสู้โควิด 19 ทั้งทรัพยากร เวชภัณฑ์ แล็บ ยา แพทย์พยาบาล ที่สำคัญไม่มีผู้ป่วยหนักในไอซียู และอัตราการเสียชีวิตต่ำมากน้อยกว่าร้อยละ 2 ทำให้ประชาชนมั่นใจได้
“โจทย์สำคัญในวันนี้ คือการสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจบนพื้นฐานความปลอดภัยประชาชน ช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งไทยยังต้องพึ่งพาต่างชาติ การเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติให้สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว หรือการค้าการลงทุน จะช่วยให้เศรษฐกิจของเรากลับมาเดินหน้าอีกครั้ง เรื่องเศรษฐกิจสุขภาพเป็นนโยบายสำคัญทีจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยยังคงความปลอดภัยให้กับประชาชนและสังคมด้วย” นายอนุทินกล่าว
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบ ร่างนโยบายการกักกันโรคในประเทศ (National Quarantine Policy) รองรับการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในระยะยาว ประกอบด้วย 3 หลักการ คือ 1.จัดให้มีระบบการกักกันโรค และสถานที่กักกันผู้สัมผัสโรคหรือพาหะ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน เหมาะสมกับบริบทของการปฏิบัติงานและกลุ่มเป้าหมาย และเพียงพอทุกพื้นที่
2.พัฒนากลไกการบริหารจัดการระบบการกักกันโรคและสถานที่กักกันโรคให้เป็นเอกภาพ ทั้งในระดับชาติ และระดับจังหวัด ที่สามารถทำงานเชื่อมโยงกันได้ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร 3.เร่งพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลแบบบูรณาการ เพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พร้อมทั้ง ได้กำหนดระบบการจัดการในสถานที่กักกันโรค 10 ข้อ ทั้งด้านการจัดการสถานที่พัก พื้นที่ส่วนกลางและสถานที่เฉพาะ, มีผู้รับผิดชอบทุกขั้นตอนครบตามจำนวนวันที่กำหนด, การคัดกรองการเจ็บป่วย หรือสงสัยติดเชื้อโควิด 19, การจัดการสิ่งแวดล้อม, การบริการพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิต, การรวบรวม จัดเก็บข้อมูล, ระบบรายงานเหตุการณ์, การพัฒนาทักษะผู้ปฏิบัติงาน, การตรวจประเมินสถานที่กักกันโรค และมีวิธีการการตรวจสอบย้อนหลังเมื่อพบเหตุการณ์ผิดปกติ รวมทั้งมีการกำกับติดตาม และประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงาน ทั้งในระดับชาติและพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เห็นด้วยกับหลักการ เรื่องการลดเวลาการกักตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วัน และให้ข้อเสนอแนะให้เน้นเรื่องความปลอดภัย การติดตามตัวได้ มีอาการป่วยหรือไม่ เข้มข้นการปฏิบัติตัวแบบ New normal โดยจะเสนอ ศบค. พิจารณาต่อไป