คลังจับจริง! โกงโครงการ “คนละครึ่ง”
ธนาคารกรุงไทย ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีโซเชียลมีเดีย โชว์วิธีการโกงเงินโครงการคนละครึ่ง ทำให้รัฐเกิดความเสียหาย
“จับจริงและจะดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุด” นางสาวสุภัค ไชยวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงข่าวร่วมกับ นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย วันนี้ (28ต.ค.) ภายหลังจากโครงการคนละครึ่งมีผู้ลงทะเบียนครบ 10 ล้านคน เมื่อคือของวันที่ 27 ต.ค.2563
ทั้งนี้ ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ในโลกของโซเชียลมีเดีย ปรากฏข้อความว่า หากต้องการใช้เงินสดจากโครงการคนละครึ่ง สามารถเข้าร่วมกับ… ได้ โดยจะได้รับเงินสดกลับคืนทุกวันนั้น ทำให้ธนาคารกรุงไทยในฐานะผู้ให้บริการโครงการดังกล่าว เกิดความเสียหาย และเกิดความไม่เชื่อในการให้บริการ
“ขณะนี้ ได้ส่งทีมลงไปตรวจสอบแล้ว แต่ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้” นายผยง กล่าวและกล่าวว่า การโอนเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถตรวจสอบได้ย้อนหลังได้ และขณะนี้ ทีมกำลังตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ซึ่งหากพบสิ่งผิดปกติเราจะส่งให้ตำรวจจัดการทันที เพราะเป็นกระทำที่ผิดกฎหมาย
ทุกๆ โครงการที่ผ่านมา มีปัญหาเกือบทั้งหมด เช่น “ชิมช้อปใช้” แต่ลงไปตรวจสอบแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่า เป็นความจริง หรือหากตรวจพบว่า มีการกระทำความผิดจริง เราก็จะดำเนินการตามกฎหมายทันที แต่ที่ต้องให้ข่าว เพราะเราต้องการเตือนคนที่ไม่หวังดีว่า อย่าทำ หรือ อย่าโชว์สิ่งที่ผิดๆ
ส่วนการโอนเงินให้แก่ร้านค้าในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์นั้น ระบบยังไม่สามารถให้บริการได้ ยังคงให้บริการโอนเงินในวันรุ่งขึ้น (+1) ในช่วงเวลาบ่ายโมงไปแล้วเหมือนเดิม เนื่องจากเงินที่ธนาคารกรุงไทยโอนให้แก่เจ้าของร้านเป็นเงินงบประมาณ ต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบความถูกต้อง และแม่นยำ
นายผยง กล่าวว่า การโอนของธนาคาร (อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง) ใช้เวลาไม่กี่วินาที แต่หากเป็นการโอนของรัฐ ที่มีกฎหมายบังคับใช้อย่างเข้มงวด และมีกฎระเบียบปฏิบัติ ธนาคารไม่สามารถตัดสินใจเองได้ จึงใช้เวลาในการตรวจสอบนาน ขณะที่ รองผู้อำนวยการ สศค.ระบุว่า กำลังมีความพยายามที่จะโอนเงินในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อช่วยสภาพคล่องให้แก่ร้านค้า แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะทำให้ได้หรือไม่
ณ วันที่ 28 ต.ค.2563 มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ มากกว่า 400,000 ร้านค้า และมียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 1,255.44 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้เงินของภาคประชาชน 626.97 ล้านบาท และภาครัฐจ่ายอีก 598.47 ล้านบาท โดยมียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 299 บาทต่อครั้ง
ส่วนสาเหตุที่ตัวเลขการใช้เงินภาคประชาชนมากกว่า ภาครัฐ เกิดการระยะเวลาที่ธนาคารจ่ายเงินให้แก่ร้านค้าช้าไปหนึ่งวัน (+1)
สำหรับจังหวัดมียอดใช้จ่ายสะสมสูงสุด 5 อันดับแรกคือ กรุงเทพมหามหานคร สงขลา นคร ศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ และที่สำคัญโครงการนี้ มีการใช้จ่ายครบแล้วทั้ง 76 จังหวัด โดยมีร้านค้าที่รับเงินจากโครงการนี้ รวม 132,000 ร้านค้า จากจำนวนร้านที่สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 400,000 ล้านร้าน ซึ่งในจำนวนนี้ มีร้านค้าที่ขึ้นทะเบียนสำเร็จแล้ว 220,000 ร้านค้า ซึ่งแบ่งออกเป็นหาบเร่แผงลอย 50,000 ร้านค้า และร้านอาหารอีก 170,000 ร้านค้า
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ธนาคารกรุงไทยยังจับมือกับกระทรวงมหาดไทย ในการกระตุ้นให้ร้านค้าชุมชนทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอและจังหวัด เข้าโครงการดังกล่าวด้วย เพียงแค่ให้ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันรับรองก็ใช้ได้แล้ว ซึ่งจะเพิ่มจำนวนร้านค้าเข้าร่วมโครงการได้อีกหลายแสนร้านค้า.