6 ทางเลือก วัดใจ “บิ๊กตู่” ปลด-เพิ่มชนวน ผ่าวิกฤตการเมือง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะต้องตัดสินใจแล้ว ว่าจะแก้ไขความขัดแย้งครั้งนี้อย่างไร
ต้นปี 2563 หลังตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาด้วยความมั่นใจเต็มร้อย ประกาศว่าจะแก้ 3 เรื่องใหญ่ 1 ภัยแล้ง 2 เศรษฐกิจ 3 โควิด-19 โดยไม่ได้มองปัจจัยการเมือง
เพราะเชื่อว่า การเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก และมี ส.ว.หนุนหลัง จะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากพอ
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ปัญหาของความไม่แน่นอนจึงเกิดขึ้น หลังมีการการยุบพรรคอนาคตใหม่ การตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ประกอบกับภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในเรื่องของการสืบทอดอำนาจ ใช้อำนาจเกินเลยขอบเขต มีอารมณ์ฉุนเฉียว ก็ยิ่งเป็นชนวนปลุกกระแสต่อต้านได้เป็นอย่างดี
ผสมกับปัญหาใหญ่จริงๆ ของการเมืองไทย ที่หมกเม็ด สะสมมายาวนาน รวมถึงการเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างไม่ทั่วไป ล่าช้า ทำให้เห็นได้ชัดถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย จึงนำไปสู่การชุมนุมประท้วงของนิสิต นักศึกษา
กลางเดือนกรกฎาคม นักศึกษานับพันคน รวมตัวครั้งแรกหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย โดยประกาศให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ หยุดคุกคามประชาชน และต่อมาจึงมีการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯ
แต่ทว่า พล.อ.ประยุทธ์ กลับไม่สนใจ โดยมองเป็นม็อบที่ไม่มีพลังเพียงพอ สุดท้ายจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะต่อมาม็อบไม่ได้มีเฉพาะแค่นักศึกษา แต่ประชาชนมาร่วมนับแสน
การชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. นำมาสู่การตัดสินใจผ่าทางตันของ “บิ๊กตู่” เพราะมีเรื่องของขบวนเสด็จฯด้วย
จากนั้นวันที่ 15 ต.ค. “บิ๊กตู่” ต้องการแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ หวังยุติสถานการณ์ในช่วงเวลาข้ามคืน
ดังจะเห็นจากก่อนหน้านั้น ไม่ถึง 24 ชั่วโมง มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ดังจะเห็นจากการจับแกนนำและผู้ชุมนุม
ดังจะเห็นจากเวลาต่อมามีการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน
แต่นั่นกลับกลายเป็นการเพิ่มชนวน เพิ่มความโกรธแค้นยิ่งขึ้น นำมาสู่ม็อบดาวกระจายไม่เว้นแต่ละวัน
โดยทุกวันนี้ม็อบผุดเป็นดอกเห็ด แนวทางการทำม็อบอย่างไม่มีแกนนำนั้น ยิ่งทำให้ม็อบกระจายได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ยังต้องบอกว่า การชุมนุมปัจจุบัน ถือเป็นการชุมนุมแบบใหม่ของคนรุ่นใหม่ จริงๆ
มีการใช้โซเชียลมีเดีย เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสาร เลือกแอพพลิเคชั่น โดยเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าถึงได้
มีการนัดหมายแบบไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งตัว โดยกว่าตำรวจจะไปถึง ผู้ชุมนุมก็ประกาศยุติการชุมนุมไปแล้ว
จะเห็นว่าทุกวันนี้นี้อยู่ในสถานการณ์วิกฤตทางการเมืองอย่างแท้จริง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่มีผลต่อผู้ชุมนุม
ดังนั้น มาถึงวันนี้แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องตัดสินใจอะไรบ้าง
1.เปิดสภารับฟังปัญหา มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม
2.พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก โดยให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อคลายสถานการณ์
3.สลายชุมนุม ด้วยความรุนแรง เข้าขั้นนองเลือด
4.มีม็อบชนม็อบ ดังจะเห็นจากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีกลุ่มคนเสื้อเหลืองออกมารวมตัวกัน แสดงพลังป้องกันสถาบัน
5.รัฐประหาร อ้างความไม่สงบเรียบร้อย ผู้ชุมนุมมีการจาบจ้วงหมิ่นสถาบัน
6.จากนั้นจึงตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อสลายขั้วความขัดแย้ง
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีส่วนสำคัญที่จะทำให้สถานการณ์เป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทั้งนี้ หาก พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจถูกต้อง ประเทศไทยก็จะมีทางออก ปัญหาความขัดแย้งในวิกฤตการเมืองครั้งนี้จะบรรเทา
แต่หากเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด ก็จะนำไปสู่หายนะของประเทศไทยและคนไทยทั้งประเทศ