ผู้ว่าธปท.ระบุการเมือง”ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด”
ผู้ว่าธปท. คาดจีดีพีไทยปีนี้หดตัว-7.8 ถึง -8% มองเศรษฐกิจติดลบต่อเนื่องถึง Q1/64 ก่อนพลิกเป็นบวกครั้งแรกใน Q2/64 ส่วนกิจกรรมศก.กลับสู่ภาวะปกติก่อนวิกฤติโควิดใน Q3/65 รับห่วงชุมนุมการเมืองกระทบการบริโภค-ลงทุน ระบุต้องติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมเปิด 5 โจทย์ใหญ่ ที่ท้าทายของธปท.
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในโอกาสพบสื่อมวลชนเป็นครั้งแรกว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยยังคงติดลบต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกปีหน้า ก่อนที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาส 2/64 และคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ภาวะปกติก่อนที่จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วง ไตรมาส 3ปี 2565 ส่วนปีนี้ คาดว่าจีดีพีจะอยู่ที่- 7.8 ถึง-8% โดยยอมรับว่า วิกฤติโควิด-19 เป็นวิกฤติสาธารณสุขที่ลุกลามและส่งผลกระทบเชื่อมโยงทั่วโลก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักพร้อมกันในหลายประเทศ รวมทั้งไทยที่ต้องล็อกดาวน์จนมีผลกระทบถึงผู้ประกอบการและประชาชนจำนวนมาก
สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปีนี้คาดว่าจะเหลือ 6.7 ล้านคน จากเดิมที่มีนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคน หรือคิดเป็นรายรับที่หายไปถึง 10% ของจีดีพี ด้านการส่งออกสินค้าไทยในไตรมาส 2/63 หดตัวหนักที่สุดในรอบ 11 ปี
ซึ่งหลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ บริบทของประเทศได้เปลี่ยนไปอย่างน้อย 3 ด้าน คือ 1.การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแตกต่างกันมาก ทั้งในมิติของสาขาเศรษฐกิจ มิติเชิงพื้นที่ และขนาดของธุรกิจ
2.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคาดว่าจะใช้เวลานานไม่น้อยกว่า 2 ปี ในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ส่วนหนึ่งเพราะโครงสร้างของสินค้าและตลาดส่งออกของไทยกระจุกอยู่ในกลุ่มสินค้าและตลาดที่ฟื้นตัวช้า
3.ยังมีความไม่แน่นอนว่าวัคซีนจะสำเร็จเมื่อไหร่ ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ระดับไหน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้สามารถแก้ไขได้ แต่ต้องอาศัยเวลาและการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างคุ้มค่า
ส่วนแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ หลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ในช่วงวันที่ 22 ต.ค. นี้ ผู้ว่าการธปท.ระบุว่าจะต้องเป็นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้น และไม่เป็นการทั่วไป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างทางการเงินในระยะยาว เนื่องจาก หากสถาบันการเงินพักชำระหนี้ออกไปอีก 1 ปีเป็นการทั่วไป จะส่งผลให้กระแสเงินสดหายไปจากระบบสถาบันการเงินประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของสถาบันการเงิน
นายเศรษฐพุฒิ บอกด้วยว่าโจทย์ใหญ่ของธปท. ในช่วงเวลาต่อจากนี้ มี 5 ด้าน ได้แก่
1.แก้วิกฤติหนี้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีและรายย่อย เพื่อให้ผ่านพ้นจากวิกฤติ และฟื้นตัวได้
2.รักษาเสถียรภาพระบบการเงินให้เข้มแข็ง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
3.รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค เพื่อให้โครงสร้างเศรษฐกิจการเงินไทย สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงภายใต้กฤติโควิด-19 และระยะต่อไปได้ดี
4.สร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชน ให้ธปท.เป็นองค์กรที่ประชาชนเชื่อมั่นที่สุด โดยเน้นการสื่อสารกับประชาชน
5.พัฒนาประสิทธิการดำเนินงาน และสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย
สำหรับสถานการณ์การชุมนุม การเคลื่อนไหวทางด้านการเมือง ผู้ว่าการธปท.ระบุว่ายังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งต้องติดตามว่าการชุมนุมจะยาวนานแค่ไหน แต่ด้านผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ก็จะมีทั้งในเรื่องความเชื่อมั่น การลงทุน และการท่องเที่ยว