เบลเยียมปิดบาร์/ร้านอาหารสกัดโควิด-19
บรัสเซลส์ – มาตรการล็อกดาวน์บางพื้นที่ในเบลเยียมไม่สามารถควบคุมการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ได้ ดังนั้น ในวันที่ 19 ต.ค. จะมีการปิดบาร์และร้านอาหารทั่วประเทศเบลเยียมนาน 1 เดือน
จากเวลาเที่ยงคืนเป็นต้นไป จะมีการบังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิวในช่วงกลางคืนร่วมด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครออกมาตามท้องถนนในช่วงที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
แต่ในการล็อกดาวน์ครั้งสำคัญครั้งที่สองในเบลเยียม ยอดผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพุ่งขึ้นถึง 100% จากสัปดาห์ก่อน
“ เรารู้สึกเหมือนไม่มีใครแคร์เรา นี่ทำผมใจสลายเลย” แองเจโล บุสซี กล่าวขณะล็อกกุญแจร้านอาหารกลางกรุงบรัสเซลส์ช่วงวันที่ 18 ต.ค.และร่ำไห้
“ผู้จัดการ เชฟ คนล้างจาน ทุกคนเศร้าหมด” เขากล่าวกับสื่อ ก่อนจะโบกมือและเดินจากไปในช่วงค่ำคืน พร้อมกับพูดว่า “ เจอกันเดือนหน้า”
บางร้านที่ให้ลูกค้าสั่งกลับบ้าน เช่น คาเฟ่และแซนวิช ยังคงเปิดและมีการซื้อขายในวันที่ 19 ต.ค.
แต่สถานที่ซึ่งเคยมีคนมารวมกันเพื่อดื่มเบียร์ หรือพบปะสังสรรค์กับเพื่อนพร้อมรับประทานอาหารด้วยกันถูกสั่งปิดจากคำสั่งของรัฐบาลกลาง
นายกรัฐมนตรีอเล็กซานเดอร์ เดอ ครู ต้องประสบกับเหตุฉุกเฉินครั้งแรก ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งหลังการเลือกตั้งเมื่อกว่าปีก่อน โดยเตือนถึงการระบาดของไวรัสที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในประเทศที่มีประชากรเพียง 11.5 ล้านคน เบลเยียมกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในโลก เมื่อคิดเป็นค่าเฉลี่ยต่อหัวประชากร
“สถานการณ์ร้ายแรง และเลวร้ายลงกว่าที่เคยเป็นในวันที่ 18 มี.ค. ที่เราสั่งปิดเกือบทั้งหมด” นายกฯกล่าวเมื่อวันที่ 16 ต.ค. โดยอ้างถึงจำนวนผู้ป่วยในห้องไอซียูในโรงพยาบาล
โดยเขาขอให้ชาวเบลเยียมทุกคนทำอย่างเต็มที่เพื่อจำกัดการติดต่อทางสังคมเพื่อลดการติดเชื้อรายใหม่ และเพิ่มพื้นที่การทำงานให้บุคลากรสาธารณสุขมากขึ้น
“สถานการณ์ในวอลโลเนีย ( เมืองที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส) และกรุงบรัสเซลส์เลวร้ายที่สุด ทำให้เป็นประเทศที่อันตรายที่สุดในยุโรป” แฟรงก์ แวนเดนบรูก รมว.สาธารณสุขกล่าวทางโทรทัศน์เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา
จนถึง 19 ต.ค. เบลเยียมมีผู้ติดเชื้อสะสมจากโควิด-19 ถึง 222,253 ราย เพิ่มขึ้นสองเท่าจากเดือนก่อน และมีผู้เสียชีวิตถึง 10,413 ราย
โรงเรียนเปิดเรียนแล้ว แต่วันที่ 19 ต.ค.เป็นต้นไป มหาวิทยาลัยจะจำกัดจำนวนนักศึกษาให้เหลือเพียง 1 ใน 5 จากจำนวนปกติ
สำหรับผู้ใหญ่ มีคำแนะนำให้ทำงานจากที่บ้าน และบรรดาองค์การสำคัญอย่างอียูและนาโตที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงบรัสเซลส์ มีการจำกัดจำนวนเจ้าหน้าที่ทำงานในสำนักงานด้วย
โดยอียูกำลังทบทวนว่า จะจัดการประชุมและมีการพูดคุยแบบออนไลน์มากขึ้น หลังจากรมว.ต่างประเทศ 2 คนซึ่งประชุมกันเมื่อสัปดาห์ก่อนมีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก และผู้นำหลายคนต้องยกเลิกการประชุมเพื่อกักตัวเอง