ติดปีก SME ด้วยนวัตกรรม สู่ New Normal
ก.อุตฯ -SME D Bank – วช. – ม.อ. ร่วมติดปีก เอสเอ็มอี ด้วยนวัตกรรมก้าวทันโลกยุค New Normal หนุนนักลงทุนช้อปไอเดียจับคู่ธุรกิจ เปิดเวทีเฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรม
นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยภายหลังการจัดมหกรรม “BCG เศรษฐกิจใหม่ประเทศไทยยั่งยืน Innovation bazaar” ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)หรือ SME D Bank และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่า เป็นการทำงานร่วมกันเพื่อเชื่อมโยงความรู้และงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ยกระดับการแข่งขัน และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคอุตสาหกรรมไทย โดยมีเป้าหมายดำเนินการในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวน 7ด้าน ได้แก่ ยางพารา ,ปาล์มน้ำมัน , อาหาร , แพทย์ สปา และพืชสมุนไพร ,ดิจิทัล , โลจิสติกส์ และ การพัฒนาธุรกิจ SMEs ก้าวทันโลกยุค New Normal
ด้าน ผช.ศ.คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า การจัดงานทาง ม.อ. จะนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ผ่านการพัฒนาและประกวดรอบคัดเลือก ในกลุ่มสุขภาพ(Health) และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม(BCG) ผ่านกระบวนการ Hackathon จำนวน 12 ผลงาน มาจัดแสดงเพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้สนใจ มาเจรจาจับคู่ธุรกิจนำไปใช้ต่อยอดเชิงพาณิชย์ ขณะเดียวกันจะมีการจัดกิจกรรม“Innovation Pitching”เฟ้นหาสุดยอดผลงานนวัตกรรมที่โดดเด่นจาก 12 ผลงานที่มาจัดแสดงในวันดังกล่าวด้วย
นอกจาก12 ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มาแสดงแล้ว ทาง ม.อ. ยังอีกผลงานวิจัยและนวัตกรรมอื่น ๆ ที่ผ่านการพัฒนามาแล้ว อีกกว่า 40 ผลงาน แสดงในเว็บไซต์ http://innobazaar.org ผู้สนใจสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ หรือติดต่อเจรจาจับคู่ธุรกิจ รวมถึงเป็นช่องทางในการนำเสนอแนวคิด (Innovation Market Place) เพื่อหาความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท โดยมีตัวอย่างความสำเร็จจากการจัดงานเมื่อปีที่แล้ว เช่น ผลงานโพรไบโอติกส์เพื่อใช้ป้องกันฟันผุ , การบำบัดน้ำเสียจากแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนโดยกระบวนการทางชีวภาพ , ซาโมเนลลาแบคเทอริโอเฟจสำหรับป้องกันและฆ่าเชื้อซาโมเนลลาในสัตว์ปีกและสุกร เป็นต้น
ด้านนางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank พร้อมสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นำไปใช้ขยายปรับปรุงกิจการหรือเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจต่อไป