ชี้ไทยลดห่วงโซ่อุปทานฉุดส่งออกในอนาคต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ปัจจัยฉุดรั้งส่งออกไทยในอนาคต หลังลดบทบาทในห่วงโซ่อุปทานโลก ระบุ เวียดนามและฟิลิปปินส์แซงหน้าไปแล้ว เหตุค่าแรงถูกกว่า แถมไทยยังยึดรูปแบบเก่าผลิตสินค้าไร้อนาคต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกบทวิเคราะห์ที่สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า “ไทยลดบทบาทในห่วงโซ่อุปทานโลก…ปัจจัยฉุดรั้งส่งออกไทยในอนาคต” ตอนหนึ่งระบุชัด…การส่งออกของไทยในปี 2018 ขยายตัว 6.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งถูกผลักดันด้วยปัจจัยด้านราคาของสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน การส่งออกของไทยขยายตัวต่ำกว่าหลายประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อพิจารณาโครงสร้างการส่งออกของไทยจะเห็นได้ว่าการส่งออกสินค้าขั้นกลางมีสัดส่วนสูงสุดในการส่งออกของไทยทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานกับประเทศต่างๆ มีความสำคัญต่อการค้าไทย
อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าขั้นกลางของไทยเริ่มส่งสัญญาณของการชะลอตัวและมีสัดส่วนที่ลดลง ในขณะที่สัดส่วนการส่งออกสินค้าขั้นสุดท้ายกลับสูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม การส่งออกสินค้าขั้นกลางของเวียดนามและฟิลิปปินส์ขยายตัวได้ดีและได้เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ แสดงให้เห็นว่าไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและมีบทบาทที่ลดลงในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่งผลให้ไทยเสียโอกาสที่จะกอบโกยรายได้จากอุตสาหกรรมนี้ที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่องในอนาคต
ทั้งนี้ การที่เวียดนามและฟิลิปปินส์เข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานแทนที่ไทยนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไทยไม่สามารถแข่งขันด้านค่าแรงได้ เพราะมีทิศทางที่สูงขึ้นตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากไทยมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่นำหน้าเวียดนามและฟิลิปปินส์ ค่าแรงของไทยจึงสูงกว่าเวียดนามและฟิลิปปินส์โดยธรรมชาติ
อย่างไรก็ดี อีกปัจจัยหนึ่งซึ่งบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของไทย เกิดจากความไม่พร้อมของไทยในด้านการปรับตัวกับเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตใหม่ๆ ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในฐานการผลิตที่ไทยได้ ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าขั้นกลางของเวียดนามและฟิลิปปินส์มีแนวโน้มที่จะแซงหน้าไทยในอนาคตอันใกล้และบทบาทของไทยในห่วงโซ่อุปทานโลกอาจจะหายไปในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หากไทยไม่เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะส่งผลให้ไทยสูญเสียโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของห่วงโซ่อุปทานโลกและบั่นทอนศักยภาพของการส่งออกไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการที่ไทยปรับเปลี่ยนโครงสร้างการส่งออก โดยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าขั้นสุดท้ายมากขึ้นนั้น จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มภายในประเทศมากขึ้น แต่ปัจจุบันสินค้าขั้นสุดท้ายที่ไทยผลิตส่วนมากมีมูลค่าเพิ่มไม่สูงนัก อีกทั้งการส่งออกสินค้าขั้นสุดท้ายของไทยมีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของการส่งออกสินค้าขั้นสุดท้ายของประเทศอื่นๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายของไทยก็ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้อยู่ดี
นอกจากนี้ ไทยยังไม่มีศักยภาพมากพอที่จะสามารถผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงดังเช่นประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งสินค้าเหล่านี้มักก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มภายในประเทศสูงและนำไปสู่การพัฒนาของอุตสาหกรรมภายในประเทศ ดังนั้น การส่งออกของไทยมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงจากการที่การส่งออกสินค้าขั้นกลางถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดโดยประเทศอื่นๆ ที่มีความสามารถทางการแข่งขันสูงกว่าไทยในแง่ของค่าแรง ในขณะที่ไทยยังไม่สามารถพัฒนาศักยภาพในการผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้ดังเช่นประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการส่งออกของไทยอาจถึงจุดอิ่มตัวและไปต่อไม่ได้
กล่าวโดยสรุป ประเทศไทยมีบทบาทลดลงในห่วงโซ่อุปทานโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งอาจหายไปในอนาคต จากการที่ไทยไม่สามารถแข่งขันกับเวียดนามและฟิลิปปินส์ได้ในแง่ของค่าแรง ซึ่งส่งผลให้ไทยถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดและถูกแทนที่ในห่วงโซ่อุปทานโลกโดยประเทศเหล่านี้ อีกทั้งไทยยังคงยึดติดกับการผลิตสินค้าเดิมๆ ที่มีแนวโน้มจะเติบโตช้าลงเรื่อยๆ เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์
นอกจากนี้ ไทยยังไม่สามารถปรับตัวกับเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ ส่งผลให้ไทยเสียโอกาสที่จะกอบโกยรายได้จากอุตสาหกรรมนี้ที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่องในอนาคต รวมถึงอาจส่งผลให้ไทยขาดการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อยอด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Internet of things (IoT) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยพยายามผลักดันให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งนี้ เมื่อมองไปข้างหน้า ไทยควรพัฒนาตนเองไปสู่การผลิตสินค้าขั้นปลายน้ำที่มีนวัตกรรมและมีมูลค่าเพิ่มสูง แทนที่จะพยายามกลับไปแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มเท่าที่ควร
อย่างไรก็ดี หากไทยไม่เพิ่มศักยภาพในการผลิตและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ บริษัทต่างชาติมีแนวโน้มที่จะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในเวียดนามแทนที่ไทย โดยปัจจุบันเวียดนามก็ได้รับการลงทุนจากหลายบริษัทต่างชาติ เช่น Ericsson และ Bosch ซึ่งได้เข้ามาลงทุนในเวียดนามและวางแผนที่จะพัฒนาเมืองอัจฉริยะในเวียดนามให้เป็นศูนย์กลางของการผลิตสินค้านวัตกรรม ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมในเวียดนามมีการพัฒนายิ่งขึ้นและส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ในขณะที่ไทยอาจไม่ได้รับโอกาสเหล่านั้น ส่งผลให้ไทยขาดปัจจัยที่จะผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งผลให้ไทยติดกับดักรายได้ปานกลางต่อไปในอนาคต
กระนั้น แม้ว่าการส่งออกของไทยจะมีปัจจัยฉุดรั้งอยู่มาก แต่ไทยยังคงมีศักยภาพสูงในอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อการค้าไทยและมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มภายในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไทยจำเป็นต้องปรับตัวกับภาคอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไปและเทคโนโลยีใหม่ๆ ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นและดิสรัปชั่นต่างๆ โดยอุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มที่จะมีสัดส่วนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งชิ้นส่วนยานยนต์บางประเภทที่ไทยผลิตในปัจจุบัน เช่น ท่อไอเสียและเครื่องยนต์สันดาปภายใน จะไม่จำเป็นอีกต่อไปสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
อีกทั้งอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์มีแนวโน้มที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิตอลกับรถยนต์มากขึ้น เช่น เซ็นเซอร์อัจฉริยะ อุปกรณ์สำหรับใช้เชื่อมต่อ และหน่วยควบคุม ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพานวัตกรรมใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเรียนรู้เทคโนโลยีและพัฒนาการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับตลาด รวมถึงผลิตสินค้าเกี่ยวเนื่องในห่วงโซ่อุปทานที่มีแนวโน้มจะขยายตัวได้ดีในอนาคต เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก