ครม.เคาะแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ปี 64
ครม. เคาะแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ปี 64 ยึดวินัยทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด เน้นลงทุนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันประเทศ ให้กลับมาเติบโตหลังโควิด19
(30 ก.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 29 ก.ย.รับทราบและอนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2564 ที่ได้วางเป้าหมายหลักสำคัญ 2 ส่วน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและดูแลสังคมจากที่ได้ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งสนับสนุนลงทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้ประเทศมีศักยภาพสามารถเติบโตหลังสิ้นสุดสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้การยึดวินัยทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด
แผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ 2564 ประกอบด้วย
1) แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 1,465,438.61 ล้านบาท โดยเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการกู้เพื่อลงทุนในโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ สร้างความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม – ชุมพร เป็นต้น
2) แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1,279,446.80 ล้านบาท เป็นการปรับโครงสร้างและบริหารความเสี่ยงหนี้เดิมของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ
3) แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 387,354.84 ล้านบาท ประกอบด้วย แผนการชำระหนี้ของรัฐบาลและหนี้หน่วยงานของรัฐจากงบประมาณรายจ่าย วงเงิน 293,454.32 ล้านบาท แบ่งเป็นชำระต้นเงินกู้ 99,000.00 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ย 194,454.32 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้จากแหล่งเงินอื่น วงเงิน 93,900.52 ล้านบาท เช่น ชำระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นตัน
โดยมีประมาณการหนี้สาธารณะต่อ GDP จะอยู่ที่ร้อยละ 57.23 ไม่เกินร้อยละ 60 ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะในระยะปานกลาง ปีงบประมาณ 2564-2568 ให้สอดคล้องกับความต้องการกู้เงินของหน่วยงานภาครัฐ รองรับความผันผวนของตลาดการเงิน เพื่อให้หนี้สาธารณะอยู่ในกรอบต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสมด้วย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยถึง รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะนำเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อเศรษฐกิจประเทศเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติเช่นเดียวกับทุกประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งไทยด้วย โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับทุกหน่วยรับงบประมาณ ให้คำนึงถึงใช้จ่ายงบประมาณอย่างรัดกุมให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งปัจจุบันและอนาคตด้วย