ชูธนารักษ์ “ขึ้นชั้น” กรมหาเงินเข้าคลัง
“ยุทธนา หยิมการุณ” หวังยกระดับ กรมธนารักษ์ ขึ้นเป็นกรมจัดหารายได้หลักของ ก.คลัง ตั้งเป้าปี’64 ดึงที่ดินที่ราชการ กลับสู่อ้อมกอดครบ 10% หรือ 1.25 ล้านไร่ หวังบริหารจัดการและเก็บรายได้ค่าเช่าที่ดิน หลังปล่อยให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจครอบครองมากถึง 96% ของ 12.5 ล้านไร่ เผยพร้อมเปลี่ยนผู้บุกรุกเป็นผู้เช่า 5 หมื่นรายหวังดึงรายได้เพิ่มอีก 1.5 หมื่นล้านบาท
นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวถึงเป้าหมายในการขอคืนที่ดินราชพัสดุจากส่วนราชการที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ ว่า ในปีงบประมาณ 2564 กรมธนารักษ์ตั้งเป้าจะขอคืนเพื่อครอบครองที่ดินราชพัสดุให้ครบร้อยละ 10 ของที่ดินฯจำนวน 12.5 ล้านไร่ ปัจจุบันกรมธนารักษ์ครอบครองที่ดินราชพัสดุเพียงแค่ร้อยละ 4 เท่านั้น อีกร้อยละ 96 อยู่ในความครอบครองของส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ
อย่างไรก็ตาม จากการที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้ส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ มีภาระจะต้องจ่ายค่าภาษีฯ หลายส่วนจึงแสดงความจำนงจะขอคืนที่ดินราชพัสดุให้กับกรมธนารักษ์ ล่าสุด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) ซึ่งครอบครองที่ดินราชพัสดุจำนวน 1.8 ล้านไร่ ได้แสดงความจำนงที่จะส่งคืนที่ดินฯบางส่วนมาให้แล้ว
“ในปีงบประมาณ 2564 กรมธนารักษ์จะดึงที่ราชพัสดุ กลับมาบริหารจัดการเองเพิ่มขึ้นเป็น 10% หรือราว 1.25 ล้านไร่ ซึ่งจะทำให้กรมฯมีรายได้จากค่าเช่าที่ดินเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมรายได้ปี 2564 ของกรมฯจากที่เคยมีราว 9,000 – 10,000 ล้านบาท ในปีประมาณ 2563ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 15,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2564” นายยุทธนา ย้ำ
สำหรับนโยบายของกรมการเปลี่ยนผู้บุกรุกที่ราชพัสดุ ให้กลายมาเป็นผู้เช่ากับกรมนั้น กรมธนารักษ์ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 50,000 ราย จากปัจจุบันมีผู้บุกรุกและยังไม่เปลี่ยนเป็นผู้เช่าอยู่กว่า 100,000 ราย คาดว่าไม่เกิน 2-3 ปี จะสามารถเปลี่ยนผู้บุกรุกเป็นผู้เช่าในระบบของกรมฯได้ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้พื้นที่อย่างถูกกฎหมาย และทำให้กรมฯสามารถจัดเก็บรายได้จากค่าเช่าเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ตนตั้งเป้าจะยกระดับกรมธนารักษ์ให้เป็นอีกกรมจัดหารายได้ให้กับกระทรวงการคลัง แม้จะไม่เท่ากับกรมภาษีทั้ง 3 แห่ง แต่จะเร่งยกระดับการจัดหารายได้จากที่ดินราชพัสดุที่ในอดีตใช้ประโยชน์และจัดหารายได้ไม่เต็มประสิทธิภาพมากนัก
ยกตัวอย่างในบางพื้นที่ เป็นที่ที่ถูกบุกรุก เช่น บริเวณเกาะเต่า แหล่งท่องเที่ยวดำน้ำที่มีชื่อเสียงระดับโลก แต่พบว่ามีการบุกรุกทำรีสอร์ทโดยไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งหากนักท่องเที่ยวต่างชาติรู้ความจริงในข้อนี้ พวกเขาจะยกเลิกแผนการท่องเที่ยวทันที เนื่องจากระบบประกันภัยจะไม่รับประกัน หรือไม่จ่ายเงินประกันกับการเดินทางท่องเที่ยวในสถานที่แหล่งท่องเที่ยว/โรงแรมที่พักเหล่านี้ ที่กระทำการผิดกฎหมายกับรัฐบาลของประเทศนั้นๆ
“ที่เกาะเต่า เราพบว่ามีการนำที่ดินที่อยู่ริมทะเลไปขายไร่ละ 5-10 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ไม่สามารถขายได้เนื่องจากเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งหากผู้บุกรุกเหล่านั้นหันมาทำสัญญาเช่าอย่างถูกต้องกับกรม ซึ่งมีระยะเวลาเช่านานถึง 30 ปีและสามารถต่ออายุได้ ก็จะทำให้การดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย และนี่จะเป็นอีกช่องทางหารายได้ของกรมฯในอนาคต” อธิบดีกรมธนารักษ ระบุ.