หมดยุคทองในจีนสำหรับแบรนด์ต่างชาติ
ก่อนหน้านี้ บริษัทอเมริกันหลายแห่งมองว่าจีนคือโอกาสทางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุด แต่ช่วงเวลาที่ดีที่สุดเหล่านั้นดูจะจบลงแล้ว
ในสัปดาห์นี้ แมคโดนัลด์รายงานว่าได้มีการพูดคุยที่จะขายสาขาในจีนและลิขสิทธิ์แบรนด์ชื่อร้านให้กับบริษัทของจีน หลัaงจากบริษัทแม่คือยัมแบรนด์ตัดสินใจที่จะแยกบริษัทที่บริหารจัดการสาขาในจีนออกจากบริษัทแม่และกลายเป็นบริษัทใหม่ชื่อ ยัมไชน่า เมื่อเดือนที่แล้ว
นอกจากนี้ แบรนด์ระดับโลกอย่างโคคา-โคลา ก็ประกาศแผนที่จะขายธุรกิจผลิตเครื่องดิ่มบรรจุขวดในจีนเมื่อเดือนพ.ย. และอินเตอร์เนชั่นแนลเปเปอร์ประกาศเมื่อเดือนมี.ค.ถึงแผนแยกบริษัทที่ดำเนินการในจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกจากบริษัทแม่
“ การที่นักลงทุนต่างชาติจะเปิดธุรกิจค้าปลีกในจีนดูเป็นเรื่องยุ่งยากและใช้เงินมาก” นายแดน
แฮริส ทนายความจาก Harris Bricken และเป็นผู้เขียนบล็อกให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจีนกล่าว
“ เราใช้เวลาหลายปีที่จะโน้มน้าวไม่ให้ลูกค้าของเราทำแบบนั้น แต่ทางยัมแบรนด์และแมคโดนัลด์กำลังทำอยู่ จีนเป็นตลาดที่เคี่ยวมาก ยากมากจริงๆ”
โดยแมคโดนัลด์รายงานเมื่อเดือนมี.ค.ว่า กำลังมองหาบริษัทคู่ค้าที่เปี่ยมกลยุทธ์สำหรับตลาดสำคัญในเอเชีย ในปี 2558 ยัมแบรนด์กล่าวว่าตัดสินใจที่จะแยกบริษัทในจีนเพื่อทบทวนยุทธศาสตร์ของบริษัท
ทั้งนี้ ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดเป็นธุรกิจสำคัญที่บุกตลาดจีนมานานเกือบ 30 ปีแล้ว เนื่องจากชาวจีนมีฐานะดีขึ้น โอกาสที่จะคว้าชัยในตลาดบริโภคของจีนดูจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากเกิดอุปสรรคสำคัญคือข่าวฉาวเรื่องความสะอาดปลอดภัยของวัตถุดิบในจีน ทำให้ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดสะดุดอย่างแรงและซบเซามานับแต่นั้น นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย
อ้างอิงจากรายงานประจำปีของหอการค้าอเมริกันในจีนชี้ว่า ปีที่แล้ว 32% ของบริษัทสมาชิกทั้งหมดไม่มีแผนที่จะขยายการลงทุนในจีน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าปี 2552 ค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม แบรนด์กาแฟชั้นนำระดับโลกอย่างสตาร์บัคส์ถือเป็นข้อยกเว้น จากการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีการรายงานผลประกอบการว่า บริษัทคาดการณ์ว่าจะขยายสาขาให้ได้ถึง 5,000 แห่งในจีนภายในปี 2564 นี้ และตลาดจีนจะขึ้นมาบดบังความสำคัญของตลาดสหรัฐฯ ได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ เกษตรกรในสหรัฐฯ ก็ยังไปได้สวยกับตลาดจีน โดยเฉพาะการส่งออกถั่วเหลือง ภาคเกษตรกรรมเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ธุรกิจที่สหรัฐฯได้ดุลการค้ากับจีน คือมียอดส่งออกมากกว่ายอดนำเข้า
โอกาสธุรกิจที่ดูจะเป็นไปได้ในจีนคือการให้บริการทางการเงิน ในช่วง 2-3 เดือนมานี้ บริษัทจัดการกองทุนอย่าง Vanguard และ JPMorgan Asset Management ต่างได้รับการอนุมัติให้เปิดบริษัทย่อยในเซี่ยงไฮ้เพิ่มขึ้น
“ เรามองว่า เป็นก้าวแรกของภารกิจของเราที่จะลดตัวเลขการลงทุนในจีนและช่วยให้นักลงทุนท้องถิ่นหลายล้านคนบรรลุเป้าหมายของพวกเขา ” อ้างอิงจากที่นางสาวลินดา โวโลแฮนโฆษกของ Vanguard โพสต์ไว้ในอีเมล.