“บิ๊กป้อม” นำมอบที่ราชฯนครสวรรค์ 2 พันไร่
“บิ๊กป้อม – สันติ” จัดเต็ม! ยกคณะฯชุดใหญ่ รวม “คลัง-แรงงาน-ทรัพยากรธรรมชาติฯ” ลงพื้นที่นครสวรรค์ ร่วมเป็นสักขีพยานให้ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง “เปลี่ยนผู้บุกรุกเป็นผู้เช่าที่ราชพัสดุ” มอบเอกสารสิทธิ์จัดสรรที่ดินการเกษตร 2,078 ราย ช่วยเหลือเกษตร คิดอัตราเช่าที่ดินแบบผ่อนปรน ตั้งเป้าปี 2563 มอบเอกสารสิทธ์ครบ 3,000 ราย คลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ด้าน “ยุทธนา หยิมการุณ” คาด เดินหน้าเคลียร์ปมรุกที่ราชพัสดุให้จบในปี 2565 รวม 7.3 หมื่นราย กว่า 1 ล้านไร่
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ และคณะ ลงพื้นที่ จ.นครสวรรค์ เพื่อมอบที่ดินราชพัสดุ ตามโครงการ “ธนารักษ์ประชารัฐ” เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2563
นายสันติ กล่าวว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ ได้นำที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ นว 339 มาจัดสรรที่ดินให้กับประชาชนในพื้นที่ อ.ท่าตะโก อ.สนามชัย จำนวน 2,078 ราย คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 2,071 ไร่ เพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาการเข้าครอบครองที่ดินในพื้นที่ราชพัสดุให้ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกันเอกสารสิทธิ์ยังสามารถนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อเพื่อการเกษตรกับสถาบันการเงินต่อไปได้
โดยพื้นที่ทั้งหมดของบึงบอระเพ็ดกว่า 130,000 ไร่ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนของบ่อเก็บน้ำที่มีพื้นที่กว่า 50,000 ไร่ พื้นที่หวงห้าม เพื่อใช้ทำประโยชน์อื่นๆ ที่ห้ามประชาชนบุกรุก และอีกส่วนก็ได้จัดให้เป็นพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยสำหรับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ที่ผ่านมามีประชาชนจำนวนมากเข้าไปถือครองที่ดิน โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบของกรมธนารักษ์เป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้กรมธนารักษ์ได้เข้าไปดำเนินการเจรจาแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง
และได้ข้อยุติในปี 2562 ที่ประชาชนยอมรับเงื่อนไขในการเช่าที่ทำกินบนพื้นที่ราชพัสดุ ด้วยอัตราเช่าที่ผ่อนปรนเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวประสบกับปัญหาภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง และห่างไกลจากเขตชลประทาน ทำให้เกษตรกรต้องอาศัยน้ำเพื่อทำการเกษตรในช่วงฤดูฝนเท่านั้น ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรที่น้อยกว่าพื้นที่อื่น
สำหรับอัตราค่าเช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อประกอบอาชีพเกษตรในพื้นที่ดังกล่าว แบ่งเป็นอัตราเรียกเก็บตามเนื้อที่ที่ได้รับสิทธิครอบครอง โดยเนื้อที่ไม่เกิน 50 ไร่ อัตราไร่ละ 20 บาทต่อปี เนื้อที่เกินกว่า 50 -200 ไร่ อัตราไร่ละ 30 บาทต่อปี เนื้อที่เกิน 200 -500 ไร่ อัตราไร่ละ 40 บาทต่อปี เนื้อที่เกิน 500-1,000 ไร่ อัตราไร่ละ 50 บาทต่อปี เนื้อที่เกิน 1,000 ไร่ อัตราไร่ละ 60 บาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2563 กรมธนารักษ์มีเป้าหมายการจัดสรรที่ทำกินในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ภายใต้ โครงการ “ธนารักษ์ประชารัฐ” จำนวน 16,385 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อ.ฟ้า อ.ไพศาลี และ อ.ตะโก โดยจะมอบให้กับประชาชนจำนวน 3,000 ราย ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดประกอบอาชีพ ทำไร่อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด และพืชอื่นๆ
ด้าน นายยุทธนา กล่าวว่า สำหรับบริเวณพื้นที่บึงบอระเพ็ด จำนวน 50,000 ไร่ ยังมีประชาชนบุกรุกบางส่วน ซึ่งกรมธนารักษ์ได้ดำเนินการเข้าไปเจรจาเพื่อขอให้ออกจากพื้นที่แล้ว และได้ดำเนินการหาที่อยู่ใหม่ให้เรียบร้อยแล้ว ส่วนที่ดินซึ่งเป็นแบบเช่าต่อปี เป็นพื้นที่น้ำท่วมถึงมีประชาชนจำนวน 3,000 ราย อยู่ระหว่างขอยื่นเช่าพื้นที่ ส่วนพื้นที่ปกติที่ชาวบ้านใช้เป็นที่อยู่อาศัย จำนวนกว่า 7,000 ไร่
ขณะนี้ได้ดำเนินการไปบางส่วน คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปีนี้ ส่วนการแก้ปัญหาภัยแล้งก็ได้มีการบูรณาการทุกภาคส่วนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหา และวางมาตรการในระยะยาว เพื่อที่พื้นที่บริเวณนี้จะได้เป็นพื้นที่ทำกินของประชาชนอย่างยั่งยืน
“ที่ผ่านมามีปัญหาบ้างในหลายจังหวัดในการเข้าไปขอพื้นที่คืนเพื่อให้เป็นพื้นที่เช่าราชพัสดุโดยเฉพาะในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากเป็นการเข้าใจผิดของชาวบ้านบางกลุ่ม แต่กรมธนารักษ์ก็ได้ดำเนินการลงไปทำความเข้าใจ และอธิบายให้ทราบถึงความจำเป็นก็ทำให้ชาวบ้านเข้าใจ และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี” นายยุทธนา ย้ำและว่า
เป้าหมายในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ราชพัสดุ ภายใต้ โครงการ “ธนารักษ์ประชารัฐ” เพื่อรองรับสิทธิให้แก่ผู้ครอบครองที่ราชพัสดุให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 จำนวนทั้งสิ้น 73,427 ราย เนื้อที่ประมาณ 1.051 ล้านไร่ โดยจะดำเนินงานของโครงการเป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเครื่องมือในการรังวัดพื้นที่ และการตรวจสอบสิทธิ์เป็นอย่างราบรื่น เพราะประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้ปัจจุบันสามารถพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินต่อแปลงให้แล้วเสร็จได้ภายใน 1-2 เดือน จากเดิมใช้เวลา 1-2 ปี.