สหรัฐฯจ่อแบล็กลิสต์บ.ผลิตชิปจีนรายใหญ่สุด
รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กำลังพิจารณามาตรการคุมเข้มการส่งออกให้กับ Semiconductor Manufacturing International Corporation (SMIC) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของจีนอ้างอิงจากถ้อยแถลงของโฆษกกระทรวงกลาโหม
โดยทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กำลังอยู่ในระหว่างการพูดคุยว่าจะเพิ่มชื่อบริษัท SMIC เข้าไปในบัญชีดำ (entity list) ของกระทรวงพาณิชย์ ที่คุมเข้มห้ามบริษัทจีนเหล่านี้ซื้อสินค้าเทคโนโลยีที่ผลิตในสหรัฐฯ
“ ทางกระทรวงกำลังทำงานประสานกับหน่วยงานอื่นในการประเมินข้อมูลที่มีอยู่เพื่อตัดสินใจว่าจะเพิ่มบริษัทนี้เข้าไปในบัญชีดำของกระทรวงพาณิชย์ ” โฆษกของกระทรวงกลาโหมระบุ “ เพื่อให้แน่ใจว่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดให้กับ SMIC จะผ่านการพิจารณาทบทวนที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น”
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะกดดันบริษัทเทคโนโลยีของจีน และเป็นการยกระดับครั้งสำคัญในการต่อสู้ทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯและจีน
SMIC เป็นบริษัทรายใหญ่ที่สุดของจีนที่กำลังพยายามส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศให้เติบโตยิ่งขึ้น จากผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ขณะที่การควบคุมการส่งออกสินค้าจากสหรัฐฯ ให้ SMIC จะส่งผลกระทบกับบรรดาบริษัทในสหรัฐฯ ที่ขายเทคโนโลยีการผลิตชิปให้บริษัทผู้ผลิตของจีน
โดยบัญชีดำของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ มีรายชื่อบริษัทในจีนกว่า 275 บริษัท จากการรายงานของสื่อรอยเตอร์ ซึ่งในครั้งแรกของการรายงานระบุว่า SMIC อาจอยู่ในรายชื่อบริษัทเหล่านี้ด้วย
ทางการสหรัฐฯประกาศล่าสุดว่า จะคุมเข้มยิ่งขึ้นกับบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีเพื่อจำกัดไม่ให้บริษัทยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมแห่งนี้เข้าถึงการซื้อขายชิปที่มีอยู่ในขณะนี้
มาตรการคุมเข้มล่าสุดทำให้หัวเว่ยจะไม่ได้เข้าถึงเซมิคอนดักเตอร์ หากไม่มีใบอนุญาตพิเศษ โดย SMIC เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตของหัวเว่ย
โดยเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา นิตยสารการเงิน Caixin รายงานว่า หัวเว่ยจะหยุดผลิตชิปเซ็ต Kirin ซึ่งเป็นสินค้าเรือธงของบริษัทในเดือนก.ย.นี้ จากแรงกดดันของสหรัฐฯที่มีต่อซัพพลายเออร์ของบริษัท
ในขณะที่ความตึงเครียดยกระดับขึ้นระหว่างสหรัฐฯกับจีน ทางการสหรัฐฯกำลังกดดันให้รัฐบาลทั่วโลกสกัดการเติบโตของหัวเว่ยด้วย โดยชี้ว่าจะมีปัญหาด้านความมั่นคง เพราะบริษัทจะสามารถสอดแนมข้อมูลและมอบให้รัฐบาลจีนได้
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังได้ออกคำสั่งประธานาธิบดีในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อห้ามไม่ให้มีการทำธุรกรรมกับ ByteDance บริษัทแม่ของ Tik Tok และบีบให้บริษัทต้องขายหรือแยกส่วนการบริหาร Tik Tok ในสหรัฐฯ ให้กับบริษัทของสหรัฐฯ