อียูหั่นแนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้า
สหภาพยุโรปรายงานเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ถึงตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐกิจในปีนี้ แต่ได้ปรับลดตัวเลขของปี 2560 ลง โดยเตือนว่าเศรษฐกิจจะประสบกับความท้าทายใหม่ๆจากผลกระทบของเบร็กซิทและความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้น
โดยทางอียูได้ปรับลดแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงเกือบครึ่งสำหรับสหราชอาณาจักรใน ปี 2560 เนื่องจากความไม่มีเสถียรภาพหลังจากเบร็กซิท
ทั้งนี้ ทางอียูได้ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกสำหรับยูโรโซน โดยเฉพาะจากชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ในสหรัฐฯ โดยคณะกรรมาธิการยุโรปรายงานว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของปีนี้จะอยู่ที่ 1.7% และคาดการณ์ว่าจะชะลอตัวลงไปอยู่ที่ 1.5% ในปีหน้า เนื่องจากจะเห็นผลกระทบของเบร็กซิทได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
“ ในช่วงเวลาของความผันผวนและไม่มั่นคง ยังไม่มีอะไรที่แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัว และแน่ใจได้ว่าสังคมจะได้ประโยชน์ ” นายปิแอร์ มอสโควิสิ ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการฝ่ายกิจการเศรษฐกิจของอียูกล่าว
เมื่อถูกถามถึงผลกระทบของนายทรัมป์ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งในสหรัฐฯ นายมอสโควิสิเน้นว่าต้องมีการกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ “ มีท่าทีความไม่พอใจชัดเจนในสหรัฐฯ ที่สะท้อนถึงประชาชนในยุโรปพลเมืองของเราจำนวนมากรู้สึกห่างไกลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และหลายคนรู้สึกถึงความไม่เชื่อมโยงกันจากรัฐบาล ”
คณะกรรมาธิการรายงานว่า ตัวเลขเงินเฟ้อ ที่ติดอยู่ในแดนลบมานาน จะปรับเพิ่มขึ้นอย่างแรง และราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นจะหนุนราคาสินค้าบริโภคให้สูงขึ้น
โดยคณะกรรมาธิการชี้ว่า เงินเฟ้อในยูโรโซนจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 1.4% ในปี 2560 เพิ่มจากตัวเลขคาดการณ์ในปีนี้คือ 0.3% ซึ่งเกิดจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางยุโรปที่ตั้งเป้าจะให้ตัวเลขเงินเฟ้อขยับขึ้นไปใกล้ 2%
การขยายตัวทางเศรษฐกิจของ 28 ประเทศสมาชิกอียูจะอยู่ที่ 1.8% ในปี 2560 นี้ และจะลดลงไปอยู่ที่ 1.6% ในปีหน้า
ทั้งนี้ ทางอียูปรับลดตัวเลขคาดการณ์ของแนวโน้มทางเศรษฐกิจในสหราชอาณาจักรในปี 2560 ลงเกือบครึ่งจากผลกระทบของเบร็กซิท และจะลดลงไปอยู่ที่ 1.2% ในปี 2561 โดยคาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะลดลงไปอยู่ที่ 1.0% จาก 1.9%ในปีนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความไม่มั่นคงที่เพิ่มขึ้นหลังจากการลงประชามติ
” การโหวตแยกตัวออกจากอียูของสหราชอาณาจักรได้สร้างความไม่มั่นคงเพิ่มขึ้นและอาจเป็นตัวชี้วัดความเสี่ยงทางนโยบายที่สูงขึ้นในสภาพแวดล้อมทางการเมืองในปัจจุบันที่ไม่มีเสถียรภาพ ” อ้างอิงจากคณะกรรมาธิการ.