ทางรอดค้าปลีกไทยชูอี-คอมเมิร์ซสู้โควิด
ซีบีอาร์อี เผยอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ร้านค้าและเจ้าของโครงการค้าปลีก จำเป็นต้องมีความสามารถในการปรับตัว และอาศัยช่องทางการค้าผ่านตลาดอี-คอมเมิร์ซ เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้
น.ส.จริยา ถ้ำตรงกิจกุล หัวหน้าแผนกพื้นที่ค้าปลีก ซีบีอาร์อี ประเทศไทย เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทยและมาตรการต่างๆ ที่ถูกนำออกมาใช้เพื่อควบคุม ทำให้ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ร้านค้าปลีกในยุคโควิด-19 จะต้องเปลี่ยนวิธีดำเนินธุรกิจ ไม่เพียงเพื่อรับมือกับจำนวนลูกค้าที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยที่ลดน้อยลงอย่างมาก แต่ยังรวมถึงพฤติกรรมการชอปปิ้งแบบใหม่ของลูกค้า
โดยตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดัชนีค้าปลีกในเดือนพฤษภาคม 2563 ลดลง 34.01% ต่อปี เหตุผลหลักมาจากยอดขายรถยนต์และเชื้อเพลิงที่ลดลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงถึงจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2541 มาอยู่ที่ระดับ 47.2 ในเดือนเมษายน 2563 แต่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยในเดือนกรกฎาคม 2563 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวกลับมาอยู่ที่ 50.1 ในขณะที่การเติบโตของยอดขายในสาขาเดิมในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ยังไม่มีการประกาศออกมา แต่คาดว่า จะเห็นตัวเลขติดลบจากทั้งธุรกิจอาหารและธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วงล็อกดาวน์ตลอดทั้งไตรมาส
“หลังผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และธุรกิจส่วนใหญ่ได้กลับมาเริ่มเปิดให้บริการตามปกติ ซีบีอาร์อี เห็นว่าเจ้าของพื้นที่ค้าปลีกหลายรายพยายามฟื้นฟูธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยกระตุ้นกำลังซื้อของลูกค้าผ่านกลยุทธ์การขายและการตลาดที่หลากหลาย เพื่อช่วยเหลือทั้งผู้เช่าที่ทำสัญญาระยาวและระยะสั้น อีกทั้งพบว่าเจ้าของพื้นที่ค้าปลีกบางแห่ง ยอมปรับเงื่อนไขการเช่าให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นสำหรับผู้เช่าพื้นที่เดิม รวมถึง ร้านค้าปลีกที่เคยเช่าพื้นที่ขนาดใหญ่ ร้านค้าเหล่านั้นมีความคุ้นเคยกับการใช้แพลตฟอร์มบนออนไลน์ และมีแนวโน้มที่จะหันไปทำทำธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวมากขึ้น หลังจากเกิดวิกฤตทำให้เกิดการทบทวนว่าอาจจะลดขนาด หรือยกเลิกพื้นที่เช่าที่มีหลายแห่งในปัจจุบัน”
ซีบีอาร์อีเชื่อว่า ในอนาคตการบุกตลาดอี-คอมเมิร์ซจะไม่ได้เป็นเพียงแค่ทางเลือกแต่เป็นสิ่งที่ธุรกิจทั้งออนไลน์และออฟไลน์ต้องทำเพื่อให้อยู่รอดได้ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจค้าปลีกของไทยต้องอาศัยเวลาในการฟื้นตัวอย่างเต็มที่เว้นแต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาด เนื่องจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่หลายแห่งโดยเฉพาะที่อยู่ในย่านใจกลางกรุงเทพฯ ต้องพึ่งพากำลังซื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติ.