“ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายฯ” เริ่มปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องส่งออกอากาศ
“ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายฯ” เริ่มปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องส่งออกอากาศโครงข่ายทีวีดิจิทัล ตามนโยบายของ กสทช. เริ่ม ก.ย. นี้ พร้อมเปิด Call Center รองรับกรณีพบปัญหาการรับชม
“ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายฯ” เดินหน้าปรับปรุงโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลเพื่อรองรับการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ของ กสทช. เริ่ม ก.ย.นี้ พร้อมเปิดคู่สายผู้ให้บริการโครงข่ายฯ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สอบถาม หากพบปัญหาในการรับชม
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (MUX) หรือ Digital Television Network Provider Society (DNPS) ซึ่งมีสมาชิกที่เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก, กรมประชาสัมพันธ์, องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ตามที่ กสทช.ได้จัดการประมูลคลื่นความถี่ในย่านต่างๆ รวมถึงคลื่นความถี่ในย่าน 700 MHz ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียง เพื่อนำมาใช้ในกิจการโทรคมนาคมในการรองรับเทคโนโลยี 5G เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้ผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ต้องดำเนินการปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องส่งออกอากาศ โครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล เนื่องจากสัญญาณอาจประสบปัญหาโดยจะเริ่มดำเนินการปรับปรุงโครงข่ายฯ ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ แต่ละโครงข่ายฯ ระหว่างเดือนกันยายน 2563 – กุมภาพันธ์ 2564 เริ่มพื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่แรกซึ่งจะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนกันยายน 2563 จากนั้นจะเริ่มดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และบริเวณใกล้เคียงในวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ต่อด้วยพื้นที่ภาคเหนือในเดือนตุลาคม 2563 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนพฤศจิกายน 2563 และพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มภายในเดือนมกราคม 2564 และสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2564”
ในการปรับปรุงโครงข่ายฯ ทางชมรมโครงข่าย กำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเป็นผู้รับรองมาตรฐาน แต่เนื่องจากในขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทต่างประเทศไม่สามารถเดินทางเข้ามาปรับจูนหรือปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องส่งและคอมบายเนอร์ตามแผนที่กำหนดได้ ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายฯ จึงได้หารือร่วมกันและได้ข้อสรุปว่า จะให้เจ้าหน้าที่หรือวิศวกรผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศที่ผ่านการฝึกอบรมและมีใบรับรองมาตรฐานสากลดำเนินการปรับปรุงโครงข่ายฯ ให้แล้วเสร็จ หลังจากนั้นจึงให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาดำเนินการตรวจสอบความเรียบร้อยต่อไป”
นายเขมทัตต์ กล่าวต่อไปว่า “ภายหลังการปรับเปลี่ยนคลื่นความถี่ในการส่งสัญญาณโทรทัศน์ ตามช่วงเวลาที่ระบุไว้ข้างต้น หากผู้ชมพบว่าไม่สามารถรับชมรายการผ่านสายอากาศแบบก้างปลาได้ตามปกติอาจจะต้องปรับจูนกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (Set Top Box) เพื่อให้สามารถกลับมารับชมดิจิทัลทีวีได้อีกครั้ง โดยในพื้นที่ต่างจังหวัด สามารถปรับจูนสัญญาณได้ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ของวันที่มีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ ส่วนกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่ใกล้เคียงสามารถปรับจูนสัญญาณได้ตั้งแต่เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป สามารถตรวจสอบวันเวลาปรับเปลี่ยนสัญญาณในพื้นที่ พร้อมคู่มือการจูนสัญญาณโดยละเอียดได้ที่ เว็บไซต์ http://700.nbtc.go.th หรือหมายเลขโทรศัพท์ Call Center 020-700-700
นอกจากการให้บริการข้อมูลโดย กสทช. แล้ว ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ได้เตรียมความพร้อม ในการให้ข้อมูลกับประชาชนเพิ่มเติมที่สำนักวิศวกรรมโครงข่าย บมจ.อสมท โทร. 02-251-7256, สำนักวิศวกรรม ไทยพีบีเอส โทร. 02-790-2314-5, สำนักวิศวกรรม สถานีโทรทัศน์กองทัพบก โทร. 09-5365-3627
และสำนักวิศวกรรม กรมประชาสัมพันธ์ โทร. 06-1640-9704 หรือ 08-7992-1410 ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายฯ จะเร่งดำเนินการปรับปรุงโครงข่ายฯ อย่างเต็มความสามารถให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด เพื่อให้ประชาชนได้รับชมช่องรายการด้วยความคมชัด สัญญาณไม่สะดุด ไร้การรบกวนจากคลื่นสัญญาณต่างๆ และได้รับชมข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายอย่างมีคุณภาพผ่านดิจิทัลทีวีอย่างต่อเนื่อง” ประธานชมรม ผู้ให้บริการโครงข่ายฯ กล่าว