เม.ย.ร้อนจัดทะลุ 43 องศา งัด 4ป.ประหยัดไฟ
ก.พลังงาน ออกมาตรการ 4 ป. ประหยัดไฟช่วงหน้าร้อน ชี้ เมษายน – พฤษภาคม อากาศร้อนจัดทะลุ 43 องศา คาดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ ในปีนี้อยู่ที่ 35,889 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากปี61
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองปลัดกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า หน้าร้อนในปีนี้ คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (พีค) จะเกิดขึ้นระหว่างปลายเดือนเมษายน – ต้นเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 34,317 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 เวลา 13.51 น. โดยปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้พยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเบี่ยงเบนไปจากคาดการณ์ คือ กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (IPS) ที่อาจเติบโตขึ้น ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนเร็วกว่าปกติ โดยปีนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2562 และสภาพอากาศที่แปรปรวน
ทั้งนี้คณะทำงานจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า จึงประมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (พีค) ในปี 2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 35,889 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากปี 2561 ซึ่งในปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าอุณหภูมิช่วงหน้าร้อนอยู่ที่ 42-43 องศาเซลเซียส แต่หากอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลดลง 1 องศาเซลเซียสจะมีผลต่อการใช้ไฟฟ้าประมาณ 400 เมกะวัตต์” รองปลัดกระทรวงกล่าว
ด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า เพื่อช่วยลดปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (พีค) ไม่ให้สูงขึ้นจนทำสถิติรอบใหม่ ทางกระทรวงพลังงานจึงได้ขอความร่วมมือภาตประชาชน เอกชน และอุตสาหกรรม ร่วมกันร่วมกันประหยัดพลังงานผ่ามมาตรการ 4 ป. “ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน” ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
สำหรับมาตรการ 4 ป. เป็นมาตรการที่ทุกคนสามารถทำได้ทันที ได้แก่ ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศเป็น 26 องศา ซึ่งการเพิ่ม 1 องศาจะช่วยประหยัดไฟเพิ่มได้ 10% ปลดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อเลิกใช้ เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 แบบใหม่ ที่มี 1 – 3 ดาว โดยแต่ละดาวจะมีประสิทธิภาพการประหยัดไฟฟ้าได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10% และเปลี่ยนเวลาที่ใช้ไฟฟ้า คือ หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นใน 2 ช่วงเวลา คือ 13.00 – 15.00 น. เพื่อลดพีคไฟฟ้าช่วงกลางวัน และ 19.00 –21.00 น. เพื่อลดพีคไฟฟ้าช่วงกลางคืน
ขณะที่ นายจรรยง วงศ์จันทร์พงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการปฏิบัติการควบคุมระบบ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ในส่วนของการเตรียมความพร้อมระบบผลิตไฟฟ้า กฟผ.ได้ขอความความมือให้โรงไฟฟ้าทั้งของ กฟผ. โรงไฟฟ้า IPP และ SPP งดบำรุงรักษานอกแผนที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนตลอดช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคมถึง พฤษภาคม ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อรักษาความมั่นคง โดยในช่วงฤดูร้อนปีนี้
รวมทั้งได้ประสานงานกับ ปตท. ในการเพิ่มความสามารถในการส่งเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ให้มีความเพียงพอต่อความต้องการใช้ผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. มีความพร้อมใช้งานเต็มความสามารถ โดยงดทำงานบำรุงรักษาสถานีไฟฟ้า และอุปกรณ์ในระบบส่งที่มีความสำคัญ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการส่งไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว