สภาพัฒน์ หั่นจีดีพีปี ’63 เหลือแค่ -7.5%
สภาพัฒน์ มองบวก หั่นจีดีพีปี ’63 เหลือแค่ -7.5% เผย! เห็นเหมือนคลังและแบงก์ชาติ ชี้ “ไตรมาส 2” หดตัวแรงสุด -12.2% เหตุจากตัวการใหญ่จากไวรัสโควิดฯ ด้าน “โฆษกคลัง” ระบุ 3 หน่วยงานรัฐเห็นตรงกัน แต่ที่ตัวเลขต่างกันเพราะใช้ฐานข้อมูลต่างเดือน
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2653 ว่า จีดีพีไตรมาสที่ 2 ติดลบ 12.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ หากมองตลอดครึ่งปีแรกพบว่า เศษฐกิจไทยติดลบ 6.9% สาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและการเดินทางข้ามประเทศ (ท่องเที่ยว) มีเพียงการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาครัฐที่ประคองเศษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่ การส่งออกไทยไตรมาส 2 ติดลบ 17.8% ทั้งนี้ หากไม่รวมการส่งออกทองคำ ติดลบมากถึง 21.4% ซึ่งเป็นไปตามภาวะถดถอยรุนแรงของเศรษฐกิจและการค้าโลก ทั้งนี้ สภาพัฒน์คาดการณ์จีดีพีทั้งปี 2563 เชื่อว่า ติดลบ 7.5% ภายใต้สมมติฐานที่รัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดไว้รัสโควิด-19 รอบ 2 ได้ รวมถึงมีการจำกัดการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจนถึงสิ้นปี 2563 และปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน ไม่ทวีความรุนแรงหรือมีมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น
“เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ถือเป็นจุดต่ำสุดแล้ว แต่จะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 3 และ 4 ส่วนจะฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหนยังขึ้นอยู่กับการพัฒนาวัคซีน หากเป็นไปตามคาดจะมีวัคซีนออกมาใช้กับคนกลางปีหน้าจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นชัดเจนช่วงครึ่งปีหลังปี 2564” เลขาธิการสภาพัฒน์ย้ำและว่า จำเป็นที่รัฐบาลต้องใช้มาตรการต่างๆ เพื่อประคองเศรษฐกิจ ทั้งการใช้จ่ายภาครัฐ การสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ การออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มผู้ที่ยังมีกำลัง สะท้อนจากตัวเลขยอดจองรถรุ่นใหม่ที่เปิดตัวมาล่าสุดมียอดจองถึง 6,000 คัน รวมทั้งการกระตุ้นการลงทุนของเอกชนให้เตรียมพร้อมรับหลังเศรษฐกิจฟื้น
พร้อมกันนี้ สภาพัฒน์ได้เสนอให้ภาครัฐควรประสานนโยบายการเงินการคลัง สนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ติดตามมาตรการที่ดำเนินไปแล้วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย มีความยืดหยุ่น พิจารณามาตรการเพิ่มเติมสำหรับธุรกิจและแรงงานในสาขาเศรษฐกิจที่ยังมีปัญหาในการฟื้นตัว การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า รวมถึงสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุนเอกชน การดูแลภาคการเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งและการลดลงของราคาสินค้าส่งออก
นอกจากนี้ จำเป็นจะต้องเร่งขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐงบปี 2563 และไตรมาสแรกปี 2564 รวมทั้งใช้จ่ายงบเหลื่อมปี พร้อมออกมาตการส่งเสริมไทยเที่ยวไทย การเตรียมรองรับความเสี่ยงสำคัญที่อาจเกิดขึ้นจากความยืดเยื้อของการระบาดของโรคและการกลับมาระบาดระลอก 2 รวมทั้งการรักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจในภายหลัง
ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่สภาพัฒน์แถลงออกมาเป็นไปในทิศทางเดียวกับกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) แม้ตัวเลขอาจแตกต่างกันบ้าง นั่นเพราะแต่ละหน่วยงานใช้ข้อมูลตัวเลขพื้นฐานทางเศรษฐกิจในวันและเดือนที่แตกต่างกัน การที่กระทรวงการคลังประเมินจีดีพีทั้งปีที่ -8.5% ขณะที่ สภาพัฒน์คาดการณ์ที่ระดับ -7.5% ล้วนมีสาเหตุจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย ส่วนอนาคต กระทรวงการคลังจะปรับตัวเลขประมาณการจีดีพีหรือไม่นั้น คงต้องขึ้นกับการรับมือปัญหาโควิดฯเป็นสำคัญ.