‘ทรัมป์’ ให้เวลา Tik Tok 90 วัน
เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งบริหารของประธานาธิบดีเพื่อบังคับให้บริษัท ByteDance ของจีนขาย หรือแยกกิจการ Tik Tok ในสหรัฐฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน
“ มีหลักฐานเชื่อถือได้ที่ทำให้ผมเชื่อว่า ByteDance อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ” ทรัมป์ระบุในคำสั่ง
คำสั่งครั้งล่าสุดนี้ถือเป็นข่าวดีสำหรับ Tik Tok (แอปพลิเคชั่นวีดีโอสั้นที่ได้รับยอดนิยมอย่างแพร่หลาย) และอนาคตของธุรกิจในสหรัฐฯ อย่างน้อยก็ดีกว่าคำสั่งของทรัมป์ในสัปดาห์ก่อน เนื่องจากคำสั่งก่อนหน้านี้ของทรัมป์อาจบังคับให้แอปสโตร์ในสหรัฐฯ หยุดให้บริการดาวน์โหลดแอป Tik Tok หากบริษัท ByteDance ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการขายกิจการได้ภายใน 45 วัน
ทั้งนี้ คำสั่งใหม่ช่วยซื้อเวลาให้ ByteDance ในการทำข้อตกลงที่มีศักยภาพสำหรับการให้บริการแอป Tik Tok ในสหรัฐฯ
ภายใต้คำสั่งล่าสุด คาดการณ์ว่า ByteDance จะทำลายสำเนาข้อมูลของ Tik Tok ที่เกี่ยวกับผู้ใช้งานในสหรัฐฯทั้งหมด และแจ้งกับคณะกรรมาธิการกำกับดูแลการลงทุนจากต่างประเทศในสหรัฐฯ ( Committee on Foreign Investment in the United States (CFIUS) เมื่อทำลายข้อมูลทั้งหมดแล้ว
โดย ByteDance ขานรับกับคำสั่งล่าสุดของทรัมป์ด้วยการออกแถลงการณ์ว่า “ อย่างที่เราทราบก่อนหน้านี้ Tik Tok เป็นที่รักของผู้ใช้งานชาวอเมริกันถึง 100 ล้านคน เพราะเป็นเหมือนบ้านของความบันเทิง การแสดงออกถึงรสนิยมของตัวเอง และการเชื่อมโยงกัน เรามีข้อผูกพันที่จะยังนำความสุขมาสู่ครอบครัวและอาชีพที่มีความหมายต่อไปสำหรับผู้ที่สร้างสรรค์คอนเทนต์บนแพลตฟอร์มของเราในช่วงเวลาหลายปีต่อจากนี้ ”
จากรายงานของสื่อวอลล์สตรีทเจอร์นัลเมื่อวันที่ 11 ส.ค. Tik Tok เก็บรวบรวม MAC addresses ของผู้ใช้งาน ซึ่งสามารถใช้เพื่อติดตามหาพิกัดของบุคคลที่ใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อ รายงานนี้ส่งผลทำให้วุฒิสภาสหรัฐฯ ขอให้ Federal Trade Commission ทำการสอบสวนวิธีการเก็บข้อมูลของ Tik Tok
บริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯอย่างไมโครซอฟต์ยืนยันว่า อยู่ในระหว่างดำเนินการเจรจากับ ByteDance เพื่อเข้าซื้อกิจการของบริษัทในสหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยไมโครซอฟต์เป็นผู้ซื้อที่มีแนวโน้มมากที่สุด และมีการประเมินว่าดีลการซื้อขายนี้จะมีมูลค่าประมาณ 10,000 – 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ที่ผ่านมา Tik Tok ปฏิเสธหลายครั้งกับการกล่าวหาจากสหรัฐฯ โดยบริษัทชี้แจงว่า มีการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้งานของสหรัฐฯในประเทศสหรัฐฯเอง และมีการสำรองข้อมูลในสิงคโปร์ และเนื่องจากศูนย์ข้อมูลตั้งอยู่อยู่นอกประเทศจีน ทำให้ข้อมูลไม่อยู่ภายใต้อำนาจกฎหมายจีน อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า กฎหมายปัจจุบันที่มีอยู่ในจีนสามารถบังคับให้บริษัทในจีนอย่าง ByteDance และบริษัทอื่นๆส่งมอบข้อมูลให้รัฐบาลจีนได้