IRPC ขายหุ้นกู้ ดอกเบี้ยสูง 3.50 บาทต่อปี
IRPC เตรียมขายหุ้นกู้ 5 รุ่น ดอกเบี้ย 3 – 3.50 บาทต่อปี หวังนำเงินมาเสริมสภาพคล่อง ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจผลิตปิโตรเคมีแบบครบวงจร
นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมออกและเสนอขายหุ้นกู้ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป รวมทั้งผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ ได้แก่ หุ้นกู้อายุ 2 ปี อายุ 3 ปี อายุ 5 ปี อายุ 10 ปี และอายุ 15 ปี โดยหุ้นกู้อายุ 3 ปี และ 5 ปี เป็นรุ่นที่จำหน่ายให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป
สำหรับอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้รุ่นอายุ 3 ปีที่ประมาณ 3.00% ต่อปี และ รุ่นอายุ 5 ปีที่ประมาณ 3.50% ต่อปี และสำหรับอัตราดอกเบี้ยรุ่นอายุ 2 ปี 10 ปี และ 15 ปี ซึ่งเสนอขายผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ จะกำหนดเป็นที่แน่นอนอีกครั้งในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ พร้อมกับมูลค่าของการออกหุ้นกู้ โดยมีกำหนดชำระดอกเบี้ยทุกๆ 6 เดือน ตลอดอายุของหุ้นกู้
ทั้งนี้ หุ้นกู้นี้เป็นหุ้นกู้ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกันและมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ โดยคาดว่าจะเปิดจองซื้อในระหว่างวันที่ 7 – 9 กันยายน 2563 ผ่านสถาบันการเงินทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ธนาคารทหารไทย และบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร
สำหรับวัตถุประสงค์การออกหุ้นกู้ครั้งนี้ เพื่อนำไปชำระคืนเงินกู้เดิมและใช้ในการประกอบธุรกิจทั่วไป และ/หรือการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้น และ/หรือการขยายธุรกิจ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้บริษัทฯ ในการบริหารจัดการตามแผนกลยุทธ์ เร่งเพิ่มขีดสมรรถภาพและความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
รวมทั้งรองรับโอกาสการลงทุนที่ตอบโจทย์วิถีการดำรงชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal) โดยบริษัทฯ มีโครงการสำคัญที่จะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ได้แก่ โครงการ ABS Powder และ โครงการ Floating Solar (โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยนํ้า) นอกจากนี้ยังมีโครงการ UCF (Ultra Clean Fuel) ซึ่งเป็นโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลให้ได้ตามมาตรฐานยูโร 5 (Euro V) ที่ตอบโจทย์ ECO Factory คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565
สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก ที่ได้รับผลกระทบจาก Stock Loss อย่างรุนแรงในไตรมาส 1 โดยการประเมินราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ประมาณ 40 – 45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และคาดว่าปริมาณความต้องการของตลาดจะปรับตัวดีขึ้น เป็นผลมาจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการล๊อคดาวน์ของหลายประเทศ ที่ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น
นอกเหนือจาก ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกเกรดที่นำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร และกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกทางการแพทย์และสาธารณสุข เช่น หน้ากากอนามัย และชุดพีพีอี (PPE) ที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา