กรมศุลฯ ยันคุมเข้มแอมโมเนียไนเตรท
กรมศุลฯแจงในไทย ไร้นำเข้าแอมโมเนียไนเตรท เผยต้องขออนุญาตจากกลาโหมก่อน ชี้! หากไม่ทำเรื่อง “ออกของ” ภายใน 5-7 วัน อธิบดีกรมศุลกากร มีอำนาจสั่งขนออกนอกประเทศได้ทันที
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวถึง ข้อมูลการนำเข้าแอมโมเนียไนเตรท “ต้นเหตุ” โศกนาฏกรรมที่กรุงเบรุต เมืองหลวงของประเทศเลบานอน ว่า เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุมและเป็นวัตถุอันตราย ดังนั้น การนำเข้าแอมโมเนียไนเตรทในไทยจะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงกลาโหมเสียก่อน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่า การนำเข้าแอมโมเนียไนเตรทในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ มีน้อยมาก ทั้งนี้ หากมีผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาในประเทศ จะต้องมีระบบการดูแลและมาตรการในการจัดเก็บรักษาที่ปลอดภัย ไม่ควรอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับแหล่งชุมชน ย่านที่พักอาศัยและแหล่งธุรกิจ
“ผมไม่มีตัวเลขสถิติ แต่เข้าใจว่าช่วงที่ผ่านมามีการนำเข้ามาในประเทศน้อยมาก เพราะเป็นสินค้าอันตรายที่จะต้องได้รับอนุญาตนำเข้าจากกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ เมื่อมีการนำเข้ามาจริง ผู้นำเข้าจะต้องจัดเก็บแอมโมเนียไนเตรท ให้อยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย และจะต้องเร่งดำเนินการจัดทำใบขนเพื่อนำวัตถุดิบอันตรายตัวนี้ออกไปให้เร็วที่สุด” โฆษกกรมศุลกากรระบุและว่า สำหรับการนำเข้าสินค้าทั่วไป หากเกินกำหนด 2 เดือน 15 วัน กรมศุลกากรจะถือว่าเป็นสินค้าตกค้าง ที่กฎหมายได้ให้อำนาจอธิบดีกรมศุลกากร สามารถดำเนินการขายทอดตลาด หรือสั่งการให้ผู้นำเข้า และ/หรือ ตัวแทนสายเรือ เร่งนำออกราชอาณาจักรได้ในทันที
แต่หากเป็นวัตถุอันตราย และผู้นำเข้าไม่เร่งดำเนินการออกของภายใน 5-7 วัน อธิบดีกรมศุลกากร สามารถจะใช้อำนาจตามกฎหมายผลักดันให้ขนออกนอกประเทศได้เช่นกัน อย่งไรก็ตาม ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีกรณีที่อธิบดีกรมศุลกากร ใช้อำนาจในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด
อนึ่ง ประเทศไทย มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสารแอมโมเนียมไนเตรทหลายฉบับ อาทิ “ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530” ในหมวด 2.3 สารเคมีและสารเคมีที่ใช้เป็นส่วนผสมของวัตถุระเบิด ลำดับที่ 4 เลขที่ 6484-52-2 (ยกเว้นปุ๋ยที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับขึ้นทะเบียนเป็นปุ๋ยเคมี หรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่วัตถุระเบิด แต่มีแอมโมเนียมไนเตรทเป็นส่วนผสม)
โดย พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 มาตรา 15 บัญญัติไว้ว่า…ห้ามมิให้ผู้ใดสั่งเข้ามา นำเข้ามา ผลิต หรือมีซึ่งยุทธภัณฑ์ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากปลัดกระทรวงกลาโหม การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตก็ได้ การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และมาตรา 42 ระบุว่า ผู้ฝ่าฝืนมาตราดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ปัจจุบันไม่มีการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมีแอมโมเนียมไนเตรทแล้ว เนื่องจากมีประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง ยกเลิกการควบคุมแอมโมเนียมไนเตรทเป็นปุ๋ยเคมี ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 ออกมา โดยในข้อ 4 ระบุว่า แอมโมเนียมไนเตรท หมายถึง สารแอมโมเนียมไนเตรท (Ammonium Nitrate) หรือปุ๋ยเคมีแอมโมเนียมไนเตรท สูตร 34-0-0 หรือแอมโมเนียมไนเตรทที่นิยมเรียกหลายชื่อในทางการค้าอื่นใด แต่มีสูตรหรือคุณสมบัติทางเคมีอย่างเดียวกับปุ๋ยเคมีแอมโมเนียมไนเตรท.