ศก.อินโดฯ ติดลบครั้งแรกใน 20 ปีจากโควิด-19
จาการ์ตา : เศรษฐกิจของอินโดนีเซียหดตัวลงในไตรมาส 2 เป็นครั้งแรกในรอบกว่าสองทศวรรษจากผลกระทบของมาตรการคุมเข้มการระบาดของโควิด-19 และมีสัญญาณเตือนว่าการฟื้นตัวอาจต้องใช้เวลานาน
โดยตัวเลขจีดีพีของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ดิ่งฮวบลงถึง 5.3% ในไตรมาสเดือนเม.ย.- มิ.ย. จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
เป็นครั้งแรกที่เศรษฐกิจของอินโดนีเซียหดตัวลงนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2542 ในช่วงเกิดวิกฤตการเงิน ‘ต้มยำกุ้ง’ ในเอเชีย และทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งแรกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
“ กิจกรรมทางเศรษฐกิจในอินโดนีเซียทรุดตัวลงในไตรมาส 2 ” สำนักวิจัย Capital Economics ระบุในรายงานหลังมีการตีพิมพ์ตัวเลขออกมา
“ ความล้มเหลวในการควบคุมการระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ และขาดนโยบายสนับสนุนที่เพียงพอหมายความว่า การฟื้นตัวมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก”
รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกกำลังมีปัญหาต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อควบคุมการระบาด สถานการณ์บีบบังคับให้หลายรัฐบาลต้องประกาศชัทดาวน์เมืองใหญ่ในไตรมาส 2
ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางของอินโดนีเซียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 ในปีนี้เพื่อช่วยหนุนเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่
อินโดนีเซียประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 48,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยรองรับผลกระทบจากไวรัส หลังจากมาตรการชัทดาวน์สั่นคลอนเศรษฐกิจให้ทรุดตัว รวมถึงในภาคการท่องเที่ยวในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสำคัญ
ประเทศที่ประกอบด้วยหมู่เกาะนับหมื่นเกาะ และมีประชากรอาศัยอยู่เกือบ 270 ล้านคน ได้ผ่อนคลายมาตรการเพื่อหวังหนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับคืนมา แต่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งทะยาน โดยจนถึงตอนนี้ อินโดนีเซียมีตัวเลขผู้ป่วยยืนยันสะสมจากโควิด-19 สูงเกิน 115,000 รายแล้ว และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,300 ราย
เชื่อว่าขนาดของวิกฤตสาธารณสุขในอินโดนีเซียจะลุกลามขยายตัวใหญ่ขึ้นอีก เนื่องจากเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่มีอัตราการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาต่ำที่สุดในโลก